Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
เกี่ยวกับเรา View : 8937
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 3 และผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 3
นางเตือนใจ ดีเทศน์
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(ลาออกเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562)
ประวัติการศึกษา
ปี 2517 รัฐศาสตรบัณฑิต (สังคมวิทยา - มานุษยวิทยา) เกียรตินิยมอันดับสอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2543 ปรัชญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปี 2557 ปรัชญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ปี 2559 ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาคติชนวิทยา ปรัชญา และศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ปี 2560 ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาชนบทศึกษาและพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประวัติส่วนตัว
     เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์ หรือครูแดง เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2495 เป็นบุตรของพลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร และนางอุไร เปรมัษเฐียร จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสา ตั้งแต่เป็นนิสิตซึ่งศึกษาและเรียนรู้หมู่บ้านชาวไทยภูเขาในจังหวัดภาคเหนือตั้งแต่ปี 2514 – 2517
     หลังจากเรียนจบได้เข้าหลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัคร (บอ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2517 – 2519 ได้เริ่มบทบาท “ครูดอย” ที่หมู่บ้านปางสา ในลุ่มแม่น้ำจัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านชนชาติพันธุ์ลีซู ลาหู่ จีนยูนนาน อาข่า และเมี่ยน จึงได้แรงบันดาลใจที่จะเป็นผู้เชื่อมความเข้าใจที่ดีระหว่างพี่น้องชาวเขาและชาวไทยพื้นราบ
     ต่อมาปี 2520-2527 ได้ร่วมงานกับกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จสำหรับชาวเขาและหลักสูตรการศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ได้รับรู้ปัญหาการไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่เพิ่มขึ้นในชุมชนชาวเขาภาคเหนือ
     ในปี 2528 ได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ดำเนินงานส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ส่งเสริมด้านการศึกษา เกษตรยั่งยืน และปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ
     เริ่มก่อตั้งองค์กรศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศอข.) เพื่อความร่วมมือระหว่างผู้นำชุมชนชาวเขา สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมการปกครอง จึงเกิดแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาพืชเสพติดบนพื้นที่ ปี 2534 - 2539
     เตือนใจได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จังหวัดเชียงราย ในปี 2543 ซึ่งได้ทำงานกับเครือข่ายชุมชนชาวไทยภูเขา นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่รัฐ และสื่อมวลชน เพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาเด็กไร้สัญชาติ โดยเฉพาะตามพื้นที่จังหวัดชายแดน
     ต่อมาได้ทำงานในหน้าที่สมาชิกภานิติบัญญัติ (สนช.) เสนอพระราชบัญญัติการทำทะเบียนราษฎร (ฉบับ 2) พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับ 4) พ.ศ. 2551 รวมถึง พระราชบัญญัติสัญญาติ (ฉบับ 5) พ.ศ. 2555 ซึ่งทำให้ผู้ประสบปัญหาสถานะบุคคลกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงชาวไทยพลัดถิ่น สามารถเข้าถึงสิทธิในการรับรองสัญชาติไทย จำนวนนับแสน
     เตือนใจ ในฐานะเลขาธิการ และผู้บริหารของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ได้ริเริ่มงานแก้ปัญหา “ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ” ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นกลุ่มชายขอบกลุ่มท้าย ๆ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาสถานะทางกฎหมาย
     ปี 2558-ปัจจุบัน เตือนใจเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติอย่างต่อเนื่อง
     เตือนใจสมรสกับนายธนูชัย ดีเทศน์ เพื่อนรุ่นพี่บัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรับราชการในหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาในพื้นที่บ้านปางสา จังหวัดเชียงราย และปัจจุบันเกษียณอายุราชการในตำแหน่งข้าราชการระดับ 9 กระทรวงแรงงาน มีบุตรและธิดา 2 คน คือ นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ (ปัจจุบันประกอบอาชีพนักพัฒนาในองค์กรระหว่างประเทศ) และนายบวร ดีเทศน์ (ปัจจุบันประกอบอาชีพนักบินพาณิชย์)
ประวัติการทำงาน
- เลขานุการโครงการศูนย์การเรียนเพื่อชุมชนในเขตภูเขา กรมการศึกษานอกโรงเรียน
- สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงราย (ปี 2543 - 2549) และเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการกิจการเด็กสตรี ผู้สูงอายุ คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- สมาชิกสภานิติบัญญํติแห่งชาติ (ปี 2549 - 2551) และเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการใช้สถานะทาง กฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพและชนพื้นเมือง
- กรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555
- ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และเป็นเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา
- ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา
- ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนฯ สำนักงานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- กรรมการคัดเลือกรางวัลลูกโลกสีเขียว

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5398329
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
562
คน