Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 1145
จดหมายเปิดผนึก เรื่อง "การคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนตามกฏหมายว่าด้วยศาลเยาวชน และครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว"
                  คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านกฎหมายและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในปัจจุบันได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด โดยกำหนดมาตรการพิเศษในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนเหล่านั้น ให้แตกต่างไปจากการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ใหญ่ เพื่อให้การดำเนินคดีอาญาเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมกับสภาพของความเป็นเด็กและเยาวชน ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและสภาพจิตใจของเด็กและเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมาตรา ๔๐(๖) ที่กล่าวถึงสิทธิของเด็กในกระบวนการยุติธรรม ย่อมได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม
                   แม้ในพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ จะกำหนดให้มีที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยเพื่อทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในทางกฎหมายและในการดำเนินคดี แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีข้อเท็จจริงที่ทำให้มีข้อห่วงใยเกี่ยวกับการจัดให้มีที่ปรึกษากฎหมายตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ ว่าในทางปฏิบัติอาจเกิดปัญหาและอุปสรรคในการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๔๐ และตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ ๓ และ ข้อ ๔๐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็กโดยตรง ทั้งนี้ เนื่องจากในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เป็นวันที่ครบกำหนด ๒ ปี นับแต่วันใช้พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ให้ยกเว้นคุณสมบัติของที่ปรึกษากฎหมายจะต้องเป็นทนายความที่ผ่านการอบรมเท่านั้น ตามที่กำหนดในบทเฉพาะกาลตามมาตรา ๒๐๕  ซึ่งหมายความว่าต่อไปที่ปรึกษากฎหมายจะต้องเป็นทนายความที่ผ่านการอบรมเท่านั้น โดยที่พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๒๑ ได้กำหนดให้ที่ปรึกษากฎหมายต้องเป็นทนายความตามกฎหมายว่าด้วยทนายความและผ่านการอบรมเรื่องวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา การสังคมสงเคราะห์ และความรู้อื่นที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา แต่ขณะนี้มีข้อพิจารณาเกี่ยวกับการจัดอบรมที่ปรึกษากฎหมาย โดยได้มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการอบรม ระเบียบปฏิบัติของที่ปรึกษากฎหมาย การจดแจ้งและลบชื่อออกจากบัญชี พ.ศ. ๒๕๕๖ ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้จัดอบรมที่ปรึกษากฎหมาย ตามมาตรา ๑๒๐ และมาตรา ๑๒๑ ไปแล้วเพียง ๒ รุ่น ดังนั้น จึงมีทนายความที่ผ่านการอบรมเป็นที่ปรึกษากฎหมายจำนวนหนึ่ง ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะไปทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหา อยู่ร่วมกับเด็กและเยาวชนในการแจ้งข้อกล่าวหาและการสอบปากคำ ในชั้นสอบสวน ตามมาตรา ๗๕ และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชนที่เป็นจำเลยในชั้นพิจารณาคดีของศาล ตามมาตรา ๑๒๐ ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งในบางจังหวัดยังไม่มีที่ปรึกษากฎหมายที่ผ่านการอบรมตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนที่ปรึกษากฎหมายที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ระมัดระวังและคุ้มครองสิทธิของเด็กตามกฎหมาย อันจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็ก ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๔๐ กำหนด และไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ ๓ และ ข้อ ๔๐              
                 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน เห็นเป็นการสมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสภาทนายความและศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จะได้หารือและร่วมมือกันกำหนดแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร่งด่วน ให้วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เป็นต้นไป มีที่ปรึกษากฎหมายทำหน้าที่ตามกฎหมายได้เพียงพอในระดับหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้กระทบต่อสิทธิเด็กและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๔๐ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ ๓ และ ข้อ ๔๐ อนึ่ง โดยในส่วนของผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิเด็กไม่ว่าจะเป็นพนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ สมควรพิจารณาในการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยเพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเด็ก
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 


22/05/2556

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375201
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
2052
คน