Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 343
กสม. ชี้กรณีผู้ก่อเหตุยิงโจมตีป้อม ชรบ. ยะลา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แนะมหาดไทย-ศอ.บต.-สมช. ร่วมกันปรับปรุงนโยบาย มาตรการและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
            วันที่ 16 มีนาคม 2564 นายสมณ์ พรหมรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้ดูแลและตรวจสอบงานด้านสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งได้หยิบยกเพื่อตรวจสอบกรณีการก่อเหตุยิงโจมตีป้อมยามของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านในพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 อันเป็นเหตุให้อาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และประชาชนเสียชีวิต จำนวน 15 คน และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง โดยผู้ก่อเหตุยังได้นำอาวุธปืนไปจากที่เกิดเหตุ ลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้า เผายางรถยนต์บริเวณใกล้เคียง และโปรยตะปูเรือใบเพื่อสกัดกั้นการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ นั้น
            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากบุคคล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ เห็นว่า การก่อเหตุเหตุดังกล่าวเป็นการกระทำ โดยกลุ่มบุคคลที่มีการวางแผน การตระเตรียมการและใช้อาวุธสงครามจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บซึ่งมุ่งประสงค์ให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งมีความมุ่งหมายต่อพลเรือน คือ อาสาสมัคร ชรบ. ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่อ่อนแอในพื้นที่ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลอันเป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การรับรองและคุ้มครองโดยตรง ทั้งนี้ ภายหลังเหตุการณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยสามารถจับกุมตัวผู้ถูกกล่าวหานำเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว และได้ร่วมกันวางแผนเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ ชรบ. รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและญาติของผู้ที่เสียชีวิตทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนในทันที
            อย่างไรก็ดี เพื่อป้องกันปัญหาลักษณะคล้ายคลึงกันซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต กสม. จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
            1. กระทรวงมหาดไทยควรปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้ง ชรบ. โดยให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจในการจัดตั้ง ซึ่งอาจดำเนินการจัดตั้งเฉพาะบางพื้นที่ที่มีความจำเป็น สามารถเลือกรูปแบบการจัดตั้งให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการและการดูแลสมาชิก รวมถึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดตั้ง ชรบ. เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการและดูแลด้วย สำหรับ ชรบ. ที่ได้รับการจัดตั้งแล้ว ควรได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์และงบประมาณอย่างเพียงพอต่อการดำเนินงาน
            2. ศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ควรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่แก้ไขปัญหาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตกอยู่ในสถานะเด็กกำพร้า เด็กที่อยู่ในสภาพยากลำบากและเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด  
            3. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ควรนำข้อเท็จจริงและปัญหาของ ชรบ. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งข้อเสนอแนะของหน่วยงานและองค์กรภาคประชาสังคม พิจารณาประกอบการจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในประเด็น เช่น การเพิ่มมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้ภาคประชาชนและประชาสังคมที่อาสาเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา การสร้างความเชื่อถือของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายความมั่นคง และการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบซึ่งตกอยู่ในสถานะยากลำบาก เป็นต้น
            “ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานและบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจนมีส่วนทำให้สถานการณ์ความรุนแรงและเรื่องร้องเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ กสม. นั้น ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการจัดตั้งและขับเคลื่อนศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 แห่ง ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รวมทั้งยังมีมติให้จัดตั้ง ‘สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้’ ณ จังหวัดสงขลา เป็นส่วนราชการในภูมิภาคแห่งแรก เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงกลไกสิทธิมนุษยชนได้ทันทีเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น หวังว่าทุกภาคส่วนจะได้ร่วมมือกันสอดส่องดูแลสถานการณ์ความไม่สงบเพื่อป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกัน ประชาชนในพื้นที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปรกติสุขและมีความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย” นายสมณ์ กล่าว
ตามเอกสารแนบ

16/03/2564

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5376997
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1628
คน