Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 246
กสม. มีมติชี้ การระบาดของ ‘ปลาหมอสีคางดำ’ จากประเทศกานา กระทบสิทธิการทำกินของเกษตรกรไทย แนะกรมประมงควบคุมดูแลการนำเข้าสายพันธุ์ของเอกชนอย่างเคร่งครัด เร่งแก้ไขและป้องกันการระบาด
ข่าวประชาสัมพันธ์
กสม. มีมติชี้ การระบาดของ ‘ปลาหมอสีคางดำ’ จากประเทศกานา กระทบสิทธิการทำกินของเกษตรกรไทย แนะกรมประมงควบคุมดูแลการนำเข้าสายพันธุ์ของเอกชนอย่างเคร่งครัด
เร่งแก้ไขและป้องกันการระบาด

 
          วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๑ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่มติ กสม.ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ ๑๔/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑ เพื่อพิจารณากรณีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรี ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอสีคางดำซึ่งกรมประมง (ผู้ถูกร้อง)อนุญาตให้เอกชนนำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยง กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของพันธุ์ปลาชนิดดังกล่าวรุกรานปลาพื้นถิ่น สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรในวงกว้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕
          กรณีดังกล่าว กสม. โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร และพนักงานเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า เมื่อปี ๒๕๔๙ คณะกรรมการด้านความหลากหลาย และความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอสีคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข ต่อมาในปี ๒๕๕๓ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอสีคางดำ จำนวน ๒,๐๐๐ ตัว โดยมีศูนย์ทดลองอยู่ที่ตำบล      ยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายเกือบทั้งหมดภายใน ๓ สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลาโดยการโรยด้วยปูนขาวและแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา โดยไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการและเก็บซากปลาส่งให้กับกรมประมงตามเงื่อนไขการอนุญาตของคณะกรรมการ IBC
          ต่อมา ประมาณปี ๒๕๕๕ เกษตรกรในพื้นที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรก กระทั่งปัจจุบัน เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรี ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาชนิดดังกล่าวเป็นสัตว์ที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย จึงเข้าข่ายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ส่งผลให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเดือดร้อน ประสบปัญหาภาวะขาดทุนและไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  กสม. พิจารณาแล้ว จึงมีมติว่า การแพร่ระบาดของปลาชนิดดังกล่าว มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิทางเศรษฐกิจ และการประกอบอาชีพของประชาชนอันกระทบต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)
          อย่างไรก็ดี แม้ในชั้นนี้จะยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่ากรมประมงในฐานะผู้ถูกร้องละเลยการกระทำอันเป็นผลให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือไม่แต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรมประมงไม่สามารถควบคุมดูแลและตรวจสอบติดตามให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นอย่างครบถ้วนตามที่กรมประมงกำหนดให้ต้องรายงานและเก็บซากปลาให้กับกรมประมง กรณีนี้ กสม. จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๑) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๑) ดังนี้
          ๑. กรมประมงควรแต่งตั้งคณะทำงานในระดับกรมเพื่อร่วมแก้ไขปัญหากับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำอย่างรุนแรง โดยกำหนดให้มีผู้แทนร่วมแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วนรวมทั้งเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อน
          ๒. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรสนับสนุนงบประมาณเร่งด่วนให้กับกรมประมงเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ และการจัดการอื่นใดเพื่อนำปลาหมอสีคางดำไปกำจัด รวมทั้งอาจกำหนดแนวทางการเยียวยาเกษตรกรที่ประสบปัญหาภาวะขาดทุนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ
          ๓. กรมประมงควรจัดให้มีกลไกหรือแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมอย่างทันท่วงทีเพื่อรองรับกรณีสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานและก่อผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและกำหนดแนวปฏิบัติในการควบคุมดูแลให้ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตอย่างครบถ้วน รวมทั้งต้องเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ติดตามกับผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และพิจารณาดำเนินการในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาต
เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒๗ เมษายน ๒๕๖๑
 

27/04/2561

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5394562
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
305
คน