Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 276
กสม. ยื่น ๑๒ ข้อเสนอให้ ครม. จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อยกระดับมาตรฐานประเทศ
ข่าวประชาสัมพันธ์
กสม. ยื่น ๑๒ ข้อเสนอให้ ครม. จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อยกระดับมาตรฐานประเทศ
            เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๑ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ส่งข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) ให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอของ กสม. เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๓) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๓) และมาตรา ๔๒ ให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร่งด่วน อีกทั้งเพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ที่หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ และ กสม. ได้ร่วมลงนาม
ในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “การเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย” ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐
            นายวัส กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. ต่อการจัดทำแผนฯ ดังกล่าวครอบคลุมหลักการเคารพ ปกป้อง และเยียวยา อันเป็น ๓ เสาหลักพื้นฐานของ UNGPs ที่ประเทศไทยให้การรับรอง ตลอดจนข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย รวมทั้งสิ้น ๑๒ ข้อ จำนวน ๔๙ หน้า ได้แก่ การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและมาตรการการแก้ไขปัญหาด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มาตรการป้องกันและเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ การนำนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม การให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้นำในการเคารพและส่งเสริมการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการทางกายภาพ การขนส่ง สารสนเทศการสื่อสาร และบริการอื่นๆ
            ประธาน กสม. กล่าวว่า กสม. ยังได้เสนอแนะเรื่องการสร้างหลักประกันการเคารพสิทธิมนุษยชนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจศึกษาแนวทางในการเสริมสร้างมาตรการที่มีประสิทธิภาพในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ รวมถึงการนำหลักการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างยั่งยืน (Sustainable Public Procurement) มาใช้ในทางปฏิบัติ การสร้างหลักการสำคัญที่จะประกันว่าการลงนามในสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างประเทศของไทยจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจจัดทำรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) และเปิดเผยต่อสาธารณะ
            นายวัส กล่าวว่า แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนยังควรระบุถึงแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาช่องว่างทางกฎหมายและกระบวนการทางปกครองที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ รวมถึงการเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีโดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบหรือฟ้องคดีเพื่อสกัดกั้นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Anti-SLAPP Law) นอกจากนี้ควรระบุถึงกลไกการเยียวยานอกกระบวนการยุติธรรมของรัฐ และการออกกฎหมายว่าด้วยการเยียวยานอกกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้หน่วยงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกลไกการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ
            นายวัส กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ - ๒๕๖๐ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนจำนวน ๒,๑๙๙ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมทั้งที่เกิดในประเทศไทยและจากโครงการลงทุนหรือพัฒนาทั้งของรัฐและเอกชนสัญชาติไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาสิทธิแรงงาน แรงงานข้ามชาติ กลุ่มเปราะบาง ซึ่งคำร้องเรียนส่วนใหญ่มีลักษณะที่ไม่อาจดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นได้เฉพาะตัวเป็นรายกรณี
            “ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ นโยบาย แนวปฏิบัติ และสภาพแวดล้อมให้ตอบสนองต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น ดังนั้น กสม. จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้รับผิดชอบ นำข้อเสนอของ กสม. ไปพิจารณาประกอบการจัดทำแผนฯ ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังจะให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๑ เพื่อให้การขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ บังเกิดผลและเกิดการสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง” นายวัส กล่าวทิ้งท้าย     
 
เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒๙ เมษายน ๒๕๖๑
 

29/04/2561

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375016
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1867
คน