Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 369
กสม. แถลงผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จัดการเรื่องร้องเรียนและรายงานผลการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นให้ความรู้แก่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ สร้างเครือข่ายภูมิภาคและนำร่องจัดตั้งสำนักงานภาคใต้
            วันที่ 20 เมษายน 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563) อันเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 และ 27 โดยมีผลการดำเนินงานภาพรวม 8 ด้าน สรุปได้ดังนี้
            1. การตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
                กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีกล่าวอ้างว่ามีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ทั้งสิ้น 465 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 170 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 36.60 โดยพื้นที่ที่มีการร้องเรียนสูงที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 90 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 19.35  ทั้งนี้ กสม. ได้ตรวจสอบคำร้อง และจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน จำนวน 387 เรื่อง ตัวอย่างเช่น สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีการเสียชีวิตของนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร จังหวัดนครนายก สิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีกล่าวอ้างว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวและตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการรับเข้าทำงานกับบริษัทเอกชน เป็นต้น ทั้งนี้ กสม. ได้ติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการหรือแนวทางของ กสม. จำนวน 131 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิชุมชนกรณีการมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
            2. การจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ
                ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กสม. ได้จัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ซึ่งเป็นการประเมินระหว่างเดือนมกราคม - ธันวาคม 2563 แบ่งเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย (1) สถานการณ์ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (2) สถานการณ์ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (3) สถานการณ์ของกลุ่มบุคคล เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ สตรีและความเสมอภาคทางเพศ และผู้มีปัญหาสถานะสิทธิ และ (4) สถานการณ์ของประเด็นสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในความห่วงใย
                นอกจากนี้ ในรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2563 กสม. ยังได้ประเมินสถานการณ์เฉพาะอีก 2 เรื่อง ได้แก่ (1) การประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และ (2) การประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับเสรีภาพในชุมนุม เพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องทางการเมือง ทั้งนี้ กสม. ได้เสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2564
            3. การเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
                กสม. ได้จัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุง กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ (1) ปัญหาพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน (2) การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของคนพิการ (3) ผู้สูงอายุ (4) กรณีศึกษา: ผลกระทบด้านการจราจรของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (5) การยุติการตั้งครรภ์เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และ (6) หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
            4. การชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
                ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กสม. ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (4) ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จำนวน 5 เรื่อง โดยต่อมา ภายหลังการเข้ารับการประเมินสถานะจากคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (GANHRI) ที่แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของ กสม. ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจดังกล่าว กสม. จึงได้จัดทำระเบียบ กสม. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริง กรณีมีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2564 เพื่อนำประเด็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานดังกล่าวไปดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็จะได้เสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
            5. การสร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน
                กสม. ให้ความสำคัญต่อภารกิจในการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนหลายประการ อาทิ การจัดทำ ‘หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย’ และ ‘คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน’ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำหลักสูตรและคู่มือฯ ไปใช้ประโยชน์ การพัฒนาคู่มือวิทยากรกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดประกวดนวัตกรรมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในโครงการเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจและยืนเคียงข้างสิทธิมนุษยชน (Youth Standing Up for Human Rights) และการมอบรางวัลให้แก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง
            6. การศึกษาวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน
                กสม. ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institution: TDRI) ดำเนินการศึกษาวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน จำนวน 1 เรื่อง คือ รายงานผลการศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนผลงานการศึกษาวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน จำนวน 1 เรื่อง คือ  ความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิชุมชนกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
            7. การส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
                กสม. ได้ดำเนินความร่วมมือกับสถาบันสิทธิมนุษยชนต่างประเทศโดยมีการประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 กรอบ ได้แก่ กรอบความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (GANHRI) กรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APF) และกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานของสหประชาชาติและคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ในประเด็น อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขับเคลื่อนสิทธิของคนพิการในประชาคมอาเซียน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กสม. ได้ทำรายงานคู่ขนานเสนอต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศที่ได้รับการจัดตั้งตามสนธิสัญญา จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ (1) รายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD)  และ (2) รายงานคู่ขนานตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ฉบับที่ 2
            8. การบริหารจัดการและการพัฒนาองค์กร
                เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียน ณ ที่ตั้งสำนักงานฯ กสม. จึงได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ให้บริการรับเรื่องร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์และโทรศัพท์ รวมทั้งบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลด้วยเลขบัตรประชาชนร่วมกับกรมการปกครองเพื่อยกระดับและอำนวยความสะดวกในการบริการประชาชน  นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้จัดตั้ง ‘สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้’ ณ จังหวัดสงขลา เป็นส่วนราชการในภูมิภาคพื้นที่นำร่อง รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคร่วมกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาอีก 6 แห่ง รวมเป็น 12 แห่งทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกลไกการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
                หากเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนมิได้อยู่ในหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของ กสม. กสม. ก็สามารถส่งต่อเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปยังองค์กรอิสระอื่นที่มีอำนาจได้ อันเป็นไปตามแนวปฏิบัติในการรับส่งเรื่องระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้ง 5 องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าว กสม. ได้ริเริ่มจัดทำขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับส่งเรื่องที่ชัดเจนร่วมกัน เอื้อให้การดำเนินงานของแต่ละองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน โดยแนวปฏิบัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นมา
                นอกจากนี้ ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ตามแนวทางของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา สำนักงาน กสม. ได้รับคะแนนการประเมิน 94.06 คะแนน ซึ่งเป็นระดับผลการประเมินในระดับ A
            สำหรับปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของ กสม. ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก หน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (4) และมาตรา 44 ที่กำหนดให้ กสม. ต้องชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมนั้น ไม่สอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ หลักการปารีส ซึ่ง กสม. ได้ประสานความร่วมมือในระดับต่าง ๆ ทั้งกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเพื่อขอให้มีการยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว
            ประการที่สอง ข้อจำกัดด้านกฎหมายกรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มิได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชนไว้ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่เดิมที่ กสม. เคยมีตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 การขาดซึ่งหน้าที่และอำนาจดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับหลักการสากลที่กำหนดว่าสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอันมีอำนาจกึ่งตุลาการควรแสวงหาแนวทางยุติปัญหาอย่างฉันท์มิตรผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยได้
            และประการที่สาม  ปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อเสนอแนะในรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่ กสม. จัดทำขึ้น ซึ่งเมื่อ กสม. เสนอรายงานดังกล่าวไปยังรัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ในทางปฏิบัติ คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้แจ้งความเห็นต่อรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยของ กสม. ทั้งนี้ หน่วยงานส่วนใหญ่ได้ตอบให้ความเห็น พร้อมทั้งอธิบายการดำเนินการและผลดำเนินงานของหน่วยงาน แต่ไม่แจ้งเหตุผลที่มิอาจดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ได้
​ตามเอกสารแนบ

20/04/2564

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5376514
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1145
คน