Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 1198
ข่าวแจก เรียกร้องยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
ข่าวแจก
เรียกร้องยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
          วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ถึง ๑๐ ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวันที่องค์กรด้านผู้หญิงทั่วโลกกำหนดให้เป็นวันสากลแห่งการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง เพื่อรณรงค์ให้ประชากรโลกตระหนักถึงความร้ายแรง และผลกระทบของการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง แต่ดูเหมือนว่าแม้จะมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องแต่ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงจากการล่วงละเมิดทางเพศ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพบว่า สถิติตัวเลขผู้หญิงที่เป็นผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศซึ่งไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ  มีจำนวนน้อยกว่าตัวเลขของผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงที่เข้ารับการรักษาพยาบาลทั้งร่างกายและจิตใจ จากสถานพยาบาลต่างๆ ทำให้เห็นว่าผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการฟื้นฟูเยียวยา
          แม้ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยมีการปรับปรุงกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้หญิงยังไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งกำหนด คำนิยาม คำจำกัดความของบุคคลในครอบครัวมีความคลุมเครือ และไม่ครอบคลุมบุคคลทุกคนในครอบครัว อีกทั้งกฎหมายยังเปิดโอกาสให้มีการยอมความได้ทุกขั้นตอนโดยให้บทบาท ผู้ประนีประนอมในศาลในการทำข้อตกลงและให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการยกเลิกการดำเนินคดี มากกว่าที่จะรับฟังความต้องการของผู้เสียหายเป็นลำดับแรกหรือ พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งกำหนดข้อยกเว้นให้มีการเลือกปฏิบัติ
          ปัญหาต่างๆที่คณะอนุกรรมการฯพบ เช่น จำนวนพนักงานสอบสวนหญิงยังมีน้อยอีกทั้งพนักงานสอบสวนหญิงบางส่วนไม่มีความรู้ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญอย่างเพียงพอเกี่ยวกับความละเอียดอ่อนทางเพศ   และแม้มีการแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ สามารถร้องขอให้มีผู้อยู่ร่วมด้วยในระหว่างการสอบสวน ให้มีสถานที่ที่เหมาะสมและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เสียหายในการชี้ตัวผู้ต้องหา อีกทั้งให้มีการสืบพยานโดยไม่เผชิญหน้าจำเลยได้  แต่ยังคงมีอุปสรรค เพราะผู้เสียหายต้องเป็นฝ่ายร้องขอ ทำให้ผู้หญิงที่ไม่รู้กฎหมายไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางกฎหมายได้อย่างแท้จริง
          นอกจากนั้นพบว่าผู้หญิงกลุ่มเฉพาะ เช่น หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ หญิงพิการ หญิงในฐานะผู้อพยพและผู้ลี้ภัย หญิงทำงานบ้าน หรือหญิงข้ามเพศ รวมถึงผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องเผชิญกับความรุนแรงซ้ำซ้อนจากทัศนคติ ค่านิยม และวัฒนธรรมทางสังคม
          การข่มขืน และปัญหาผู้กระทำผิดลอยนวล ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ล่าสุดมีรายงานการฉุด การลักพาตัวนักศึกษาหญิงไปข่มขืน และทำอนาจาร โดยไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ การข่มขืนสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้เสียหายและครอบครัวมาก นอกจากทำให้เกิดความอับอายแล้ว การข่มขืนยังทำให้ผู้หญิงรู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์ และคุณค่าของตนเอง ผู้เสียหายหลายคนมีปัญหาซึมเศร้า และไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ
          ในนามของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ
          ๑. ควรเพิ่มมาตรการในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บังคับใช้กฎหมายและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความละเอียดอ่อนทางเพศ  การเคารพในความเสมอภาคระหว่างเพศ  และสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ(CEDAW) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อสามารถคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          ๒.  ให้มีหลักประกันในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงและเด็กหญิง โดยกระบวนการยุติธรรมต้องเป็นมิตรกับผู้หญิง มีกระบวนการการให้คำปรึกษาเพื่อให้ผู้หญิงมีความมั่นใจในการต่อสู้คดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ พร้อมทั้งให้มีการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัว  เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ
          ๓.  เร่งรัดให้หน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ เรื่องการป้องกันและแก้ไขการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เคร่งครัด ครบถ้วน เป็นธรรมต่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศและคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง
          ๔.  รับประกันในการเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และส่วนร่วมทางการเมืองทุกระดับ เพื่อให้ผู้หญิงสามารถนำเสนอปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรง รวมถึงปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาความยากจน หรือปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง       


 
นางอังคณา  นีละไพจิตร 
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี
                                                                                                                                  ๒๔ พฤศจิกายน  ๒๕๕๙ 
 

24/11/2559

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5398128
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
361
คน