Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 132
ประธาน กสม. แจงว่า กสม. ได้ทำหน้าที่เฝ้าระวังปัญหาการชุมนุมทางการเมืองตลอดมาตั้งแต่ต้น -ขอให้ทุกฝ่ายเคารพสิทธิและชื่อเสียงของผู้อื่น
                ตามที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองหนึ่งโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ว่า “กสม. ต้องออกมาทำงานเชิงรุก เพื่อปกป้องเสรีภาพของเยาวชนอย่างแข็งขัน ไม่ใช่แค่รอรับเรื่องร้องเรียนอยู่ในที่ตั้ง แล้วก็เงียบหายไป ไม่มีอะไรคืบหน้า # กสม. มีไว้ทำไม” นั้น
                นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองของเยาวชนหลายกลุ่มในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุม  และได้ส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสม. เข้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมีข้อเสนอแนะต่อผู้ชุมนุมให้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ พึงระมัดระวังการกระทบกระทั่งกัน ปฏิบัติตามกฎหมาย และเคารพสิทธิและชื่อเสียงของผู้อื่น ขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพึงใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และขอให้สังคมมีความอดทนและเคารพต่อความคิดเห็นต่างภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ทั้งนี้ หากมีการกระทำใดเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน บุคคลสามารถดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งเป็นกลไกปกติในการยุติปัญหาได้ แต่หากกลไกดังกล่าวละเลยต่อหน้าที่ของตนและเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กสม. จึงจะสามารถเข้ามาตรวจสอบเพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาได้ อันเป็นกลไกในการเฝ้าระวัง (Monitoring Mechanism) ดังที่ปรากฏจากข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน กสม. เรื่อง “ปธ. กสม. ย้ำ เยาวชนสามารถใช้สิทธิชุมนุมได้โดยสงบ – เดินหน้าเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 และปัจจุบัน การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนยังอยู่ภายในขอบเขตของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
                ประธาน กสม. กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเขียนข้อความสั้น ๆ และเลื่อนลอยในสื่อสังคมเฟซบุ๊ก กล่าวหาองค์กรอื่นโดยขาดข้อมูลที่ชัดเจน และไม่รู้ภาระหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายขององค์กร รวมทั้งไม่รู้ว่าองค์กรได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรนั้นได้”
                “แม้นักศึกษาและประชาชนจะมีสิทธิชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการว่างงานและขาดรายได้อันเนื่องมาจากการซ้ำเติมของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 การบริหารราชการแผ่นดิน และกติกาในการปกครองประเทศ รวมทั้งความเหลื่อมล้ำที่ได้รับจากกระบวนการยุติธรรม แต่ก็พึงปฏิบัติตามกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ชุมนุมโดยสงบและไม่ละเมิดสิทธิและชื่อเสียงของผู้อื่น” นายวัส กล่าวในที่สุด
ตามเอกสารแนบ

11/08/2563

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375271
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
2122
คน