Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 349
กสม. หนุนทุกภาคส่วนใช้สิทธิมนุษยชนขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและสังคมสันติสุข
          วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ นางเตือนใจ    ดีเทศน์ และนายชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมงานประกาศ “วาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดโดยกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล 
          โอกาสนี้ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวสุนทรพจน์ประกาศ “วาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นหนึ่งในห้าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หมวด ๑๒ โดยบัญญัติในมาตรา ๒๑๕ ให้เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ และรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๗ (๕) ยังได้บัญญัติให้ กสม. มีหน้าที่และอำนาจในการสร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ต่อมาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๕) ก็ได้บัญญัติสอดคล้องกัน 
          มาตรา ๒๗ (๑) (๒) และ (๓) ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจของ กสม. ให้ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมมือแก่หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนในการศึกษา วิจัย เผยแพร่ความรู้และพัฒนาความเข้มแข็งด้านสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งในการให้ความช่วยเหลือหรือเยียวยาแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมและเผยแพร่ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของแต่ละบุคคลที่ทัดเทียมกัน และการเคารพในสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่นซึ่งอาจแตกต่างกันในทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และศาสนา รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และองค์การระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชน
          นายวัส กล่าวอีกว่า หน้าที่และอำนาจของ กสม. ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้นั้น สอดคล้องกับประกาศ “วาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ของรัฐบาลที่มีเป้าหมายให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อนำไปสู่สังคมสันติสุข โดยเฉพาะกลยุทธ์ของรัฐบาล ได้แก่ ๔ สร้าง คือ การสร้างจิตสำนึกในการเคารพสิทธิผู้อื่น สร้างระบบการติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชน สร้างวัฒนธรรมการเคารพ          สิทธิมนุษยชน และสร้างเสริมการพัฒนาเครือข่ายทุกภาคส่วน และ ๑ ลด คือ การลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละปีอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม “วันนี้ต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายมิติประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับดักสำคัญ ประกอบด้วย      (๑) กับดักประเทศรายได้ปานกลาง (๒) กับดักความเหลื่อมล้ำ และ (๓) กับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา ความท้าทายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางการเมือง โมเดล Thailand 4.0 จึงเป็นเครื่องมือในการนำประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศในโลกที่หนึ่งที่มีความมั่งคั่งและยั่งยืน” 
          นายวัส กล่าวในตอนท้ายว่า การบูรณาการหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนมาเป็นวาระแห่งชาติขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่น่าชื่นชม หากแต่การนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น ต้องเป็นการขับเคลื่อนที่คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ดังนั้นการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ กลุ่มอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ย่อมนำพาประเทศไทย
มุ่งไปสู่สังคมที่มีคุณภาพ มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน สมดั่งหลักคิดของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ประชาคมโลกรวมถึงประเทศไทยได้ให้คำมั่นว่าจะมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง (Leave No One Behind)
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5374698
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1549
คน