Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 376
กสม. หารือร่วมหน่วยงานรัฐ ยุติการกักตัวเด็กผู้ลี้ภัย/ผู้ลอบเข้าเมือง ย้ำรัฐบาลรักษาสมดุลเรื่องความมั่นคงกับประโยชน์สูงสุดของเด็ก
          วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับองค์การช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the Children) และองค์กรพันธมิตรการคุมขังระหว่างประเทศ (International Detention Coalition) จัดการประชุมระดับชาติว่าด้วยการยุติการกักตัวเด็กผู้เข้าเมือง และการจัดทำทางเลือกในการให้เด็กอยู่ในชุมชนในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และติดตามความคืบหน้าในการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติการกักตัวเด็ก และเพื่อสร้างหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ณ ห้องประชุมเชียงแสน โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพฯ
          นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในการประชุมว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการจับกุมผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงในฐานะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยจากการตรวจเยี่ยมสถานที่กักในพื้นที่ต่างๆ พบว่ามีผู้ลี้ภัยและบุคคลที่น่าห่วงใย (Persons of Concern) ขององค์การสหประชาชาติที่ถูกกักในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้มีทั้งผู้สูงอายุ ผู้หญิง หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงเยาวชนและเด็กเล็ก โดยที่เด็กเหล่านี้มีหลายคนอยู่ในวัยทารกที่ยังดื่มนมมารดา และเนื่องจากบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้เนื่องจากอาจเกิดอันตราย อีกทั้งการผลักดันกลับอาจขัดกับหลักการไม่ผลักดันสู่อันตราย (Non Refoulement) และเนื่องจากผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงเหล่านี้ยังไม่สามารถเดินทางต่อไปยังประเทศที่สามได้ จึงทำให้ต้องถูกกักเป็นระยะเวลานาน ซึ่งบางคนอาจถูกกักนานถึง ๑๐ ปี ทำให้มีผู้ต้องกักจำนวนหนึ่งเสียชีวิตในระหว่างถูกกักตัวในห้องกัก และเนื่องจากห้องกักมิได้ถูกออกแบบมาเพื่อกักขังบุคคลรวมถึงเด็กเป็นระยะเวลานาน จึงส่งผลให้เด็กๆที่ติดตามผู้ปกครองในการโยกย้ายถิ่นฐานไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาและการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงการเข้าถึงการสุขอนามัยขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ
          นางอังคณา กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลได้พยายามยุติการกักตัวเด็ก โดยในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมาได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการปล่อยตัวเด็กผู้เข้าเมืองและลี้ภัยออกจากศูนย์กักตัวคนต่างด้าว โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการลงนามจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าเมื่อมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจนี้แล้ว จะมีการปล่อยตัวเด็กและครอบครัวออกจากศูนย์กักตัวคนต่างด้าว โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบตามมาตรการนี้ในการคุ้มครองเด็กต่อไป ทั้งนี้ ตนเห็นว่า รัฐบาลประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศกับการปกป้องประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญด้วย
          อนึ่ง ที่ประชุมโดยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันให้ข้อเสนอและประเด็นที่จะต้องติดตามในการแก้ไขปัญหาการกักตัวเด็กผู้เข้าเมือง เช่น การจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระบบการคัดกรองคนเข้าเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๐ การจัดตั้งกลไกคณะทำงานโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเพื่อดำเนินนโยบายการไม่กักเด็กที่ชัดเจน และการทำความเข้าใจต่อกรอบ/เกณฑ์/การปฏิบัติในการกักตัวเพื่อให้เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐที่บังคับใช้กฎหมายต่อไป


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5397979
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
212
คน