Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 497
กสม. แถลงยืนยันร่าง พรป.กสม. ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐
กสม. แถลงยืนยันร่าง พรป.กสม. ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐
          เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องเสวนา ชั้น ๖ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการอาคาร บี ถนนแจ้งวัฒนะ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วย กสม.  และผู้บริหารสำนักงาน กสม. ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุม กสม. ในเช้าวันนี้ต่อกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (พรป.กสม.) ในวาระที่สองและสามเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐
          เมื่อวานนี้ กสม. ได้รับร่าง พรป.กสม. ที่ สนช. ลงมติเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ จาก สนช. แล้วในเช้าวันนี้จึงได้พิจารณาร่าง พรป.กสม. ดังกล่าว ประกอบข้อมูลของผู้ที่เข้าร่วมประชุมพิจารณาร่าง พรป.กสม.  รวมทั้งพิจารณาร่าง พรป.กสม. ฉบับก่อน ๆ ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) การให้สัมภาษณ์ของ กรธ. และข้อมูลจากสื่อมวลชนอย่างรอบด้านแล้ว
          ที่ประชุม กสม. มีมติว่า อย่างน้อยที่สุด ร่าง พรป.กสม. ดังกล่าว มาตรา ๖๐ ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และจะดำเนินการตามมาตรา ๒๖๗ วรรคห้าซึ่งบัญญัติว่า
          “เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จให้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ถ้าศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องหรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งมีจํานวนสิบเอ็ดคน ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมอบหมายฝ่ายละห้าคน เพื่อพิจารณาแล้วเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเพื่อให้ความเห็นชอบ ถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติไม่ถึงสองในสามดังกล่าว ให้ถือว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบตามร่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอ และให้ดําเนินการต่อไปตามมาตรา ๘๑”
          ประธาน กสม. แถลงเพิ่มเติมดังนี้
          ๑) กสม.ไทยถูกลดสถานะจาก  A เป็น B เพราะ กสม. ชุดที่แล้วไม่สามารถแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาและความคุ้มกัน (Immunity) การปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. รวมทั้งตอบสนองต่อการละเมิดสิทธิฯล่าช้า โดยเงื่อนไข ๒ ข้อแรกมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้มีหลักประกันความเป็นอิสระและความหลากหลายของกรรมการสิทธิฯ มิได้มุ่งประเด็นไปที่ตัวกรรมการสิทธิฯ เป็นรายบุคคลแต่อย่างใด เหตุผลที่ กรธ. อ้างว่าเพราะที่มาของการสรรหาไม่เปิดกว้าง ไม่มีเวลาให้กลุ่มที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเพียงพอตามที่ระบุไว้ในหลักการปารีส ซึ่งเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่เราต้องทำตามนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง ในการสรรหา กสม. ชุดปัจจุบัน สำนักงาน กสม. ก็ได้แก้ไขกระบวนการสรรหาเท่าที่จะมีอำนาจทำได้ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของผู้ประเมินแล้ว มีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง มีระยะเวลารับสมัครยาวนาน และมีผู้สมัครนับร้อยคน ทั้งคณะกรรมการสรรหาในขณะนั้นก็คำนึงถึงปัญหาข้อนี้ ทำให้การสรรหาได้ กสม. หลากหลายอาชีพรวมทั้งภาคประชาสังคม ที่ กรธ. อ้างว่า เวลา กสม. ไปประชุมในต่างประเทศ จะประชุมในฐานะของ กสม. ไม่ได้ ต้องไปในฐานะทีมงานของกระทรวงการต่างประเทศนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยของรัฐบาล แต่ กสม. เป็นองค์กรอิสระ ต่างคนต่างมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน เฉพาะในเวทีของสถาบันแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (กสม.) บางเวทีเท่านั้นที่ กสม. สถานะ B เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ (เช่น เวที GANHRI และ APF) ส่วนเวทีอื่น ๆ รวมทั้งการประชุมคณะกรรมการประจำอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี กสม. ไทยมีศักดิ์และสิทธิเท่าเทียมกับประเทศภาคีสมาชิกอื่นทุกประการ ข้ออ้างของ กรธ. จึงเป็นความเท็จ
          ๒) หลักการปารีส (Paris Principles) เกิดจากการประชุมทางวิชาการที่กรุงปารีสในปี ๑๙๙๑ และต่อมาได้รับการรับรองจาก UN General Assembly ในการประชุมปี ๑๙๙๓ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดรูปแบบของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนอำนาจหน้าที่ องค์ประกอบ และแนวทางการดำเนินงานของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้ ไม่ใช่พันธกรณีระหว่างประเทศดังที่ กรธ. กล่าวอ้างแต่ประการใด
          ๓) ที่ กรธ. อ้างว่า หากยังให้ กสม. ชุดปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจเกิดปัญหา ทำให้ กสม. ถูกลดเกรดความน่าเชื่อถือไปเรื่อยๆ และกระทบต่อการทำงานนั้น จากผลงานของ กสม. ชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมาเป็นกลไกในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน มีชื่อเสียงเลื่องลือไปยัง กสม. ในอาเซียน สหภาพยุโรป และทั่วโลก มีการชมเชยให้ กสม. ไทยเป็นแบบอย่างของ กสม. ประเทศอื่น ข้ออ้างของ กรธ. ดังกล่าว นอกจากจะเป็นความเท็จแล้ว ยังเป็นการใส่ร้ายป้ายสีสถาบันแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (กสม.) ของไทยอีกด้วย
          ๔) ส่วนที่มีการอ้างว่า การให้ กสม. ชุดปัจจุบันอยู่ต่อครึ่งวาระ กับการให้ยืดเวลาสรรหา กสม.ชุดใหม่ออกไป ๓๐๐ กว่าวัน ก็เป็นเวลาที่ใกล้เคียงกันนั้น การกระทำเช่นนี้มีผลต่างกันมาก การให้อยู่ครึ่งวาระมีผลว่า กสม. ยังคงอยู่ในตำแหน่งจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ เมื่อไปดำเนินการใด ๆ ย่อมได้รับความเชื่อถือ แต่การเซ็ตซีโร่ ทำให้ กสม. เปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้รักษาการ ย่อมขาดความน่าเชื่อ ทำให้เป็นผลเสียต่อประเทศชาติมากกว่า
          ๕) การที่ประธาน กรธ. อ้างว่า การพ้นจากตำแหน่งไม่ใช่เรื่องสิทธิ แต่เป็นหน้าที่นั้น นอกจากจะเป็นเหตุผลที่ประหลาดแล้ว ยังขัดกับที่ประธาน กรธ. เคยชี้แจงในที่ประชุม สนช.เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐ว่า เป็นการกระทบและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลบางประการ ทั้งรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ที่ กรธ. สร้างมาก็บัญญัติให้ กรธ. และ สนช. ปฏิบัติหน้าที่ไปตามหลักนิติธรรม การจะเซ็ตซีโร่องค์กรใดจึงต้องกระทำโดยมีเหตุผลที่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ต้องคำนึงถึงหลักสุจริต และประโยชน์สาธารณะ  การเซ็ตซีโร่ กสม. ชุดปัจจุบัน ไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวแม้แต่น้อย
          ๖) สำหรับขั้นตอนต่อไป เมื่อ กสม. แจ้งความเห็นไปแล้ว  สนช. จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม ๓ ฝ่าย รวม ๑๑ คน ประกอบด้วยประธาน กสม. และ สนช. กับ กรธ. ฝ่ายละ ๕ คน พิจารณาเสนอ สนช. ในกรณีที่ สนช. ไม่เห็นชอบด้วยมติ ๒ ใน ๓ ให้ร่าง พรป.กสม. ตกไป ในกรณีมีมติไม่ถึง ๒ ใน ๓ ให้ถือว่า สนช. ให้ความเห็นชอบตามร่างของคณะกรรมาธิการวิสามัญ หลังจากนั้นอาจมีขั้นตอนส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายลูกนี้ต่อไป

ข่าวมติ-กสม-22-สค-60-และ-ความเห็นประธาน-กสม.pdf


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5397887
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
120
คน