Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 234
ประธาน กสม. ร่วมการประชุมประจำปีเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติการประชุม GANHRI 2019 วันที่ 2 – แลกเปลี่ยนประเด็นสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก
          เมื่อวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2562 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสาวทิพย์ธีรา รัมมณีย์ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมประจำปีเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions หรือ การประชุม GANHRI 2019) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 มีนาคม 2562 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
          โดยในภาคเช้าได้เข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิสตรี ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้มีการพิจารณาทบทวนบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลกที่ได้ร่วมกันลงนามรับรองในปฏิญญาอัมมาน (Amman Declaration) ในคราวการประชุมระหว่างประเทศของ GANHRI ครั้งที่ 11 ที่เมืองอัมมาน ประเทศจอร์แดน เมื่อปี 2555 ซึ่งที่ประชุมให้ความสำคัญและบูรณาการการทำงานร่วมกันในประเด็นสิทธิมนุษยชนของสตรี และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อสร้างให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากทุกภูมิภาคมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางการริเริ่มดำเนินการ ปัญหาอุปสรรคหรือข้อท้าทาย และบทเรียนที่ได้รับ ตลอดจนรวบรวมแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็กด้วยการดำเนินการภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามหลักการปารีส ใน 3 ด้านหลัก คือ 
          1. การส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก 
          2. การคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก 
          3. การสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของวัฒนธรรมภายในสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเรื่องสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก
          การประชุมดังกล่าวมีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม ได้แก่ โมร็อกโก แอลเบเนีย อินเดีย แอลจีเรีย เม็กซิโก รัสเซีย เกาหลีใต้ ไอร์แลนด์เหนือ จอร์แดน ซามัว ออสเตรเลีย ปาเลสไตน์ เปรู ฮอนดูรัส สกอตแลนด์ จอร์เจีย และโอมาน รวมทั้งผู้แทนจากคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันถึงบทบาทสำคัญของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการให้คำแนะนำและตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับรูปแบบการเลือกปฏิบัติหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเหตุแห่งเพศ เช่น ปัญหาการจ้างงานผู้หญิง การติดตามการปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) การสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาสังคม การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิสตรี ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการดำเนินการในกรณีมีการละเมิดสิทธิสตรีหรือสิทธิเด็ก
          ภาคบ่ายผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าร่วมการประชุมสามัญประจำปีของ GANHRI ซึ่งเป็นการรายงานผลการดำเนินงานของ GANHRI ในรอบปีที่ผ่านมา และเป็นเวทีการพิจารณาวาระต่าง ๆ ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ ซึ่งในการประชุมสามัญประจำปีครั้งนี้มีวาระที่สำคัญ คือ
          1. การรับรองสมาชิก Bureau แทนสมาชิกที่หมดวาระ รวมทั้งการเลือกตั้งประธาน และเลขานุการของ GANHRI เพื่อทำหน้าที่ในวาระ 3 ปีข้างหน้า โดยประธาน GANHRI คนใหม่ คือ Dr. Carlos Alfonso Negret Mosquera จากสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโคลอมเบีย ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายระหว่างสถาบันแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในทวีปอเมริกา (The Network of the National Institutions for the Promotion and Protection of Human Rights of the American Continent : RINDHCA) และเลขานุการ GANHRI คือ Dr. Ali Bin Samikh Al Marri จากสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกาตาร์ ซึ่งเป็นสมาชิกในกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Forum : APF)
          2. การรับทราบผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ เอเชีย-แปซิฟิก (APF) ยุโรป (ENHRI) แอฟริกา (NANHRI) และ อเมริกา (RINDHCA)
          3. การแก้ไขปรับปรุงธรรมนูญ GANHRI (GANHRI Statute) โดยเนื้อหาเป็นการแก้ไขปรับปรุงไวยากรณ์และการใช้ถ้อยคำให้มีความสอดคล้องกัน และการแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับการดำเนินงาน (Rules of Procedure : RoP) และของคณะอนุกรรมการว่าด้วยการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation : SCA) โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดวันที่ที่แน่นอนสำหรับการส่งเอกสารประกอบการประเมินสถานะ
          4. การรับทราบรายงานงบประมาณประจำปี 2018 และแผนการงบประมาณประจำปี 2019
          5. การรับทราบผลการดำเนินงานของคณะทำงานภายใต้ GANHRI เช่น คณะทำงานด้านผู้สูงอายุ
          6. การรับทราบรายงานผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการว่าด้วยการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation : SCA) ในรอบปีที่ผ่านมา
          7. การรับรองแผนกิจกรรมสำหรับปี 2019


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375447
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
78
คน