Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 4810
25 พฤศจิกายน วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล
          ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงถือเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในแทบทุกสังคมมาช้านาน ในคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้หญิงและคนยุคนั้นอย่างยากที่จะลืมเลือน นั่นคือ กรณีการสังหารสามสาวพี่น้องชาวโดมินิแกนตระกูล Mirabal ได้แก่ Patria, Maria และ Minerva ซึ่งถูกลอบสังหารอย่างทารุณด้วยเหตุผลของการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคเผด็จการตูจิลโล่ สมัยที่นาย Rafael Trujillo เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐโดมินิกัน บาดแผลในวันนั้นนำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง หลังจากนั้นร่วม 20 ปี ในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women) สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” โดยทั่วโลกได้มีการใช้สัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวด้วย 
          อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 (*) มากว่า 10 ปีแล้ว แต่จากการศึกษาวิจัยของนักวิชาการหลายสถาบันพบว่า ปัญหาความรุนแรงทางเพศและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ไม่ได้ลดน้อยลง ทั้งนี้เพราะสังคมไทยยังยอมรับได้กับค่านิยมที่ชายกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง ดังคำพูดที่คุ้นหูที่เรามักได้ยินเช่นว่า “สามี-ภรรยา เปรียบเหมือนลิ้นกับฟัน กระทบกระทั่งกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา” ซึ่งเป็นมายาคติที่ถูกผลิตซ้ำและทำให้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวกลายเป็นเรื่องที่ต้องอดทนกันไป 
          พฤศจิกายน 2561 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้หญิงอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป ในพื้นที่ กทม. (**) พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่เคยเห็นเพื่อน/คนใกล้ชิดประสบปัญหาความรุนแรงและโดนทำร้าย ขณะที่บางส่วนเคยประสบปัญหาความรุนแรงด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังเห็นการตอกย้ำสะท้อนความรุนแรงทางเพศ ผ่านสื่อละคร เช่น ในฉากละครตบ-จูบ หรือ ฉากพระเอกข่มขืนนางเอก จนเหมือนเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้ 
          ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติและวิธีการหล่อหลอมที่มีผลต่อการสืบทอดความคิดความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นรากเหง้าของทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความรุนแรงทางเพศ เพราะความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination - CEDAW) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the. Rights of the Child - CRC) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี
* พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้ว่า
          มาตรา 4 ผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ .....
          มาตรา 5 ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
** นางสาวจรีย์ ศรสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แหล่งที่มาhttp://www.newtv.co.th/news/24410
 


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5397804
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
37
คน