Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 372
กสม. จัดงานวันสตรีสากลปี ๖๑ เชิดชูเกียรติ ๖ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ “กสม. อังคณา” ห่วงนักสิทธิฯ หญิง ถูกคุกคามทางเพศ-ฟ้องร้องให้หยุดเคลื่อนไหว เสนอรัฐบาลออกมาตรการคุ้มครอง ด้าน “ศ.วิทิต” แนะรัฐบาลลดใช้กฎหมายความมั่นคง และให้ปฏิบัติตามหลักสากลสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้เห็นต่าง
          วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๑ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสตรีสากล ๘ มีนาคม ประจำปี ๒๕๖๑ โดยผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติในปีนี้ประกอบด้วย มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ทีมฟุตบอลบูคู FC นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) นางดารารัตน์ สุเทศ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา และ นางสาวหทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
          นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่รับผิดชอบงานด้านสิทธิผู้หญิงและกลุ่มเพศสภาพ รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่มีโอกาสได้ทำงานและเรียนรู้จากผู้หญิงหลายคนที่ได้รับการเชิดชูเกียรติในวันนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดี หรือที่เรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation - SLAPPs)” ซึ่งมีผลทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์สาธารณะถูกดำเนินคดี โดยมีข้อสังเกตว่าการฟ้องร้องลักษณะนี้ นอกจากทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเกิดความหวาดกลัวแล้ว ยังทำให้ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการทำกิจกรรมได้อย่างปกติ อย่างไรก็ดี สำหรับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ความท้าทายเลวร้ายที่สุดที่พวกเธอต้องเผชิญมากกว่าผู้ชาย คือ การถูกคุกคามทางเพศ การถูกลดทอนความน่าเชื่อถือในหน้าที่การงาน การไม่เป็นที่ยอมรับของครอบครัว สังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ เกิดจากพื้นฐานความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศในหลายวัฒนธรรม
          นางอังคณา กล่าวต่อว่า แม้ว่าข้อร้องเรียนเรื่องสิทธิของผู้หญิงหลายประเด็นที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการป้องกันและยุติการคุกคามทางเพศในการทำงาน แนวทางการตรวจค้นร่างกายผู้หญิงในฐานะผู้ต้องหาหรือนักโทษ การส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมลายูมุสลิม ฯลฯ แต่ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตนยังมีข้อกังวลต่อการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพและการเคลื่อนไหวเพื่อสาธารณประโยชน์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ในโอกาสวันสตรีสากลปีนี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน โดยเฉพาะประเด็นการคุกคามทางเพศ และในกรณีที่มีการคุกคาม ทำร้าย หรือลอบสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รัฐต้องสร้างหลักประกันให้มีการสืบสวนสอบสวนที่เป็นธรรมและไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล
          ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านการป้องกันความรุนแรงและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศของสหประชาชาติ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “บทบาทผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ปัจจุบัน” สรุปว่า เมื่อค.ศ. ๑๙๙๐ สหประชาชาติมีข้อห่วงกังวลต่อรายงานสิทธิสตรีฉบับแรกที่ประเทศไทยนำเสนอในประเด็นความมั่นคงของรัฐกับการส่งเสริมสิทธิสตรี ต่อมาอีกหลายสิบปี ประเทศไทยก็ยังได้รับข้อห่วงกังวลในประเด็นดังกล่าวอยู่ แม้ว่าสิทธิของผู้หญิงมีความก้าวหน้าขึ้น เช่น มีการพัฒนากฎหมายหลายฉบับที่เอื้อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ และ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นในการให้ความคุ้มครองในประเด็นความมั่นคงแห่งรัฐและศาสนา
          นอกจากนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันแม้ไทยจะมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ (พ.ศ. ๒๕๖๐) ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมทางเพศ แต่ยังมีการนำกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงแห่งรัฐหลายฉบับ เช่น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง และประมวลกฎหมายอาญา โดยเฉพาะมาตรา ๑๑๒ และ ๑๑๖ รวมทั้งคำสั่ง คสช. ฉบับต่าง ๆ มาใช้มากเกินไป ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายตามสาระแห่งรัฐธรรมนูญ ตามหลักนิติธรรม และหลักกติกาสากลระหว่างประเทศ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และพิจารณางดใช้กฎหมายเก่าที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อเปิดพื้นที่การแสดงออกอย่างสันติให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายมากขึ้น
          Ms. Katia Chirizzi รองผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UN OHCHR) กล่าวว่า วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันครบรอบ ๒๐ ปีของ “ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคลและองค์กรของสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” ซึ่งกล่าวถึงสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่จะทำงานด้านสิทธิฯ และกล่าวถึงหน้าที่ของรัฐที่จะเคารพการทำงานนั้น ปฏิญญาฉบับดังกล่าว จึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทยที่จะแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่เพื่อให้มีการเข้าถึงและการใช้ปฏิญญานี้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงความรับผิดชอบเบื้องต้นของรัฐที่จะเคารพ คุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งผู้ชายและผู้หญิงด้วย ทั้งนี้ตนเห็นว่า รัฐบาลไทยควรที่จะปกป้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ที่ได้รับความรุนแรงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งโดยรัฐและเอกชน ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่า กระบวนการสืบสวนจะเกิดขึ้นทันทีและไม่เอนเอียง และผู้กระทำผิดจะต้องถูกลงโทษอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถที่จะสร้างมิติเชิงบวกได้ด้วยการเชิญผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติที่ดูแลสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้มาเยี่ยมประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อที่จะให้ข้อเสนอแนะต่อมาตรการที่ประเทศไทยควรจะดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติยังไม่เคยได้รับการตอบรับให้เข้าเยี่ยมในเชิงบวกจากประเทศไทย
          อนึ่งในงานดังกล่าว ยังมีเวทีอภิปรายเรื่อง “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน บทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคม ความเสี่ยงภัยคุกคามและข้อเสนอเพื่อการคุ้มครอง” โดยผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติประจำปี ๒๕๖๑ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและประโยชน์สาธารณะ มีข้อเสนอให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง โดยลดการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หยุดการดำเนินคดีแก่ประชาชนที่เรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิฯ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้เห็นต่างเพื่อนำไปสู่การเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน
 


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375511
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
142
คน