Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 1138
บันทึกช่วยจำ: สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สิทธิมนุษยชน และโรคโควิด 19
บทนำ
          การระบาดของโรคโควิด 19 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนพร้อมด้วยมิติด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ การตอบสนองทางการแพทย์สามารถตอบสนองต่อความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนในวงกว้าง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากวิกฤติด้านสุขภาพหรือมาตรการในการควบคุม ผลกระทบของโรคโควิด 19 ต่อประเทศต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการแพร่กระจายของไวรัส โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ การเตรียมความพร้อม และมาตรการตอบสนอง รวมถึงบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนี้ ยังจะส่งผลกระทบต่อปัจเจกบุคคลและส่วนต่าง ๆ ของประชากรในรูปแบบที่แตกต่างกัน
          เอกสารนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการบูรณาการสิทธิมนุษยชนในการเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อโรคโควิด 19 โดยการระบุประเด็นสำคัญ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรับทราบถึงงานที่มีความสำคัญที่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการทั่วโลกเพื่อตอบสนองต่อการระบาดใหญ่และเสนอแนวทางนี้เพื่อเสริมความพยายามดังกล่าวและแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดี เป็นเอกสารที่มีพลวัตและสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาจแก้ไขได้ตามสถานการณ์และประสบการณ์
 
1. การเตรียมพร้อม: การประสานงานการจัดการเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขแห่งชาติ
          สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมสำหรับโรคโควิด 19 รวมถึงการทำให้มั่นใจว่า อำนาจหน้าที่และบทบาทที่เป็นอิสระถูกรวมเข้ากับกลไกด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องในระดับชาติและระดับท้องถิ่นตามความเหมาะสม กลไกของรัฐบาลควรประสานงานการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การบริการทางสังคม การศึกษา และการบังคับใช้กฎหมาย ในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านสุขภาพและเพื่อแก้ไขผลกระทบของมาตรการที่เกี่ยวข้อง        
          สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้รับการสนับสนุนในการระดมหน่วยงานภาคประชาสังคมที่หลากหลาย ในการเตรียมความพร้อมในระดับท้องถิ่นและระดับชาติในลักษณะที่สอดคล้องกับการรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Inclusivity) การมีส่วนร่วม (Participation) และการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) เช่น สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถระดมและบูรณาการนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและองค์กรสตรีที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเสี่ยงที่สุดในการสื่อสารและการมีส่วนร่วมทางสังคมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการด้านสุขภาพ เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้อพยพ ชนกลุ่มน้อยด้านเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ผู้สูงอายุ คนพิการ และประชากรชายขอบอื่นๆ วิธีนี้จะช่วยให้มั่นใจว่าผู้ที่เสี่ยงต่อการถูก “ทิ้งไว้ข้างหลัง” จะได้รับข้อความจากชุมชนและมีโอกาสได้มีส่วนร่วม  
          การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วม: บทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการเฝ้าระวังและช่วยเหลือในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามหลักฐานเป็นสิ่งสำคัญในทุกขั้นตอนของวิกฤตข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันและการวินิจฉัยโรคในระยะแรกควรสามารถเข้าถึงได้และให้แก่ทุกคนถ่ายทอดในภาษาต่าง ๆ และปรับให้เข้ากับความต้องการเฉพาะ รวมถึงคนพิการ ชนกลุ่มน้อยทางภาษา (Linguistic minorities) ชนพื้นเมืองท้องถิ่นดั้งเดิม และผู้อพยพ นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและบริการสนับสนุนสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศและเกี่ยวกับวิธีการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ระหว่างการระบาด
        การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเอื้อต่อการมีส่วนร่วม: มาตรการเตรียมความพร้อมสามารถช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการตัดสินใจและสร้างกลไกที่ช่วยให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ (Feedbacks) และการร้องเรียน รัฐบาลและสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรตั้งเป้าหมายที่จะรักษาพื้นที่ของพลเมืองให้เปิดกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ในฐานะภาคประชาสังคมที่มีชีวิตชีวาซึ่งมีส่วนช่วยในการวัดและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประสิทธิผลเป็นสิ่งสำคัญในช่วงการระบาด รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในระบบสุขภาพ
          สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถสร้างเวทีสำหรับการเข้าร่วม: เป็นสิ่งสำคัญที่สาธารณชนสามารถหยิบยกปัญหาในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ หากเป็นไปได้ กลไกการมีส่วนร่วมควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มและปัจเจกบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ผู้ที่มีความต้องการจำเป็นเฉพาะ หรือต้องการความสนใจอย่างเร่งด่วน เมื่อพิจารณาถึงข้อจำกัด (เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม) สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถจัดตั้งสายด่วน (Hotlines) กลุ่มการส่งข้อความทางสังคม (Social messaging groups) หรือรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้สาธารณชนสามารถหยิบยกปัญหาต่าง ๆ แม้ว่าการประชุมแบบต่อหน้าจะไม่สามารถกระทำได้ และนำปัญหาเหล่านั้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
          การวิเคราะห์และเฝ้าระวังเบื้องต้น: สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการวิเคราะห์เบื้องต้นเกี่ยวกับวิธีการระบาดของโรคโควิด 19 และมาตรการด้านสุขภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศของพวกเขา โดยคำนึงถึงแง่มุมทางเพศและสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องประเมินสถานการณ์ ทั้งการตอบสนองเนื่องจากผลกระทบของมาตรการระยะสั้นและระยะยาวที่นำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของโรค ซึ่งอาจสร้างให้เกิดความเปราะบางใหม่ๆ ขึ้น
          สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาจให้ความสนใจกับความเสี่ยงเฉพาะเรื่องเพศ เช่น ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการติดเชื้อ ความรุนแรงบนพื้นฐานของเพศ การขยายความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย และการเบี่ยงเบนทรัพยากรจากการช่วยเหลือเพื่อรักษาชีวิต (Life-saving interventions) ที่สำคัญอื่น ๆ ซึ่งผู้หญิงและเด็กหญิงต้องการ เช่น สุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาจช่วยรวบรวมหรือสนับสนุนการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของการกระจายตัวของโรคโควิด 19 ตามเพศ อายุ และความพิการ
          สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีบทบาทสำคัญในการระบุถึงความเสี่ยงที่บุคคลซึ่งสูญเสียอิสรภาพต้องเผชิญ และเรียกร้องให้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบ เช่น บุคคลที่ถูกควบคุมตัว รวมถึงในสถานที่กักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสถานที่ลิดรอนเสรีภาพอื่น ๆ เช่น ค่ายผู้อพยพและผู้ลี้ภัย สถาบันผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจิตเวช และการดูแลทางสังคม ศูนย์ฟื้นฟูยาเสพติดภาคบังคับ และเรือนจำ ซึ่งเปราะบางต่อการแพร่กระจายของไวรัส
          การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถระบุและทำแผนที่ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมและการตอบสนอง ตลอดจนความเสี่ยงที่พวกเขาเผชิญและตรวจสอบให้แน่ใจว่ามาตรการต่าง ๆ ได้แก้ไขปัญหาของพวกเขา ทุกสังคมรวมถึงคนยากจนข้นแค้นและบุคคลชายขอบซึ่งขาดการเข้าถึงการเชื่อมต่อ และผู้ที่จะเผชิญกับความยากลำบาก ได้รับการกำหนดมาตรการป้องกันและตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นประจำวันของพวกเขา:
                   - ชนพื้นเมืองท้องถิ่นดั้งเดิม อาจประสบกับความท้าทายเนื่องจากการขาดน้ำดื่มที่สะอาดบริการด้านสุขภาพที่จำกัด และที่อยู่อาศัยที่แออัด ชนพื้นเมืองท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอยู่โดดเดี่ยวอย่างสมัครใจ (Voluntary isolation) หรือติดต่อครั้งแรก (Initial contact) ควรได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ ต้องได้รับความยินยอมอย่างเสรีและแจ้งล่วงหน้า(Free, prior and informed consent) จากชนพื้นเมืองท้องถิ่น เมื่อต้องทำการตัดสินใจ ที่มีผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง สำหรับชนพื้นเมืองท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอย่างโดดเดี่ยวด้วยความสมัครใจหรือติดต่อครั้งแรก รัฐและฝ่ายต่างๆ ควรพิจารณาพวกเขาเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง วงล้อมซึ่งป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าสู่ดินแดนของชนพื้นเมืองท้องถิ่นดั้งเดิมควรดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสใด ๆ
                   - บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการระบาดของโรค และควรรวมมาตรการเฉพาะไว้ในแผนเผชิญเหตุเพื่อแก้ไขผลกระทบเหล่านี้ ข้อมูลที่มีชี้ให้เห็นว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีแนวโน้มที่จะทำงานในภาคนอกระบบและมีอัตราการว่างงานและความยากจนที่สูงขึ้น บริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ควรดำเนินการต่อในช่วงวิกฤตดังกล่าว รวมถึงการรักษาและการทดสอบเอชไอวี นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องจัดการกับข้อมูลข่าวสารที่ผิด ที่ทำให้เกิดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
                   - ชนกลุ่มน้อยชายขอบ อาจเผชิญการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับข้อจำกัดด้านเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและการเข้าถึงการศึกษา พวกเขาอาจเผชิญกับสภาพที่อยู่อาศัยที่ไม่ดีซึ่งมีการป้องกันด้านสุขอนามัยเพียงเล็กน้อย รวมถึงการขาดการเข้าถึงบริการหรือทรัพยากรด้านสาธารณสุขที่สามารถป้องกันโรคโควิด 19 รวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคในภาษาของพวกเขา
                   - ผู้อพยพ อาจมีความเสี่ยงต่อการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติ และอาจถูกกีดกันด้านกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร บริการด้านสุขภาพ และการตอบสนองการฟื้นฟู อันเป็นผลจากสถานะการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ผู้อพยพซึ่งเดินทาง ใช้ชีวิต และทำงานในสภาพที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัย รวมถึงคนไร้บ้าน คนที่อาศัยในสถานสงเคราะห์ที่แออัด ค่ายทั้งที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ หรือที่พักอาศัยที่ไม่เหมาะสม อาจเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของไวรัสอย่างรวดเร็ว
                   - คนที่อาศัยอยู่ในนิคมตั้งถิ่นฐานนอกระบบ สถานพักพิงฉุกเฉิน และคนเร่ร่อน ไม่สามารถเข้าถึงน้ำ สุขอนามัย และที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม มีความเสี่ยงต่อไวรัส การตกงานและความยากลำบากทางเศรษฐกิจอาจส่งผลให้ผู้คนต้องเผชิญกับการขับไล่และการไร้ที่อยู่
                   - คนพิการและผู้สูงอายุอาจเผชิญกับความท้าทายเพิ่มเติมอันเป็นผลจากการเคลื่อนไหวที่จำกัด ความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สินค้าและบริการ การกีดกันทางสังคมและการถูกตีตรา
 
2. การรับมือกับโรคโควิด 19: การเคารพในสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ และสิทธิทางสังคม
          หน้าที่ในการคุ้มครองชีวิตประชาชน หมายถึง การที่รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อจัดการกับเงื่อนไขทั่วไปในสังคมที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือการดำเนินการปกป้องประชาชนเพื่อให้สามารถอุปโภคสิทธิในการมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยเงื่อนไขทั่วไปเหล่านี้ได้รวมถึงการคุ้มครองเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อที่คุกคามชีวิตของประชาชนด้วย (คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ,ข้อคิดเห็นทั่วไปหมายเลย 36, ย่อหน้าที่ 26)
          สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ถูกสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการรับมือกับโรคโควิด 19 ภายใต้หน้าที่และอำนาจที่มี รวมถึงภายใต้ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในด้านสุขภาพและด้านความปลอดภัย ตลอดจนภายใต้การได้รับอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิฯ มีความสามารถในการประสานงานกับกลไกที่ทำหน้าที่จัดการกับเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพของชาติ โดยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรติดตามสถานการณ์ของโรคโควิด 19 และสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นสำคัญต่าง ๆ พร้อมทั้งวิธีจัดการกับปัญหา และข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ได้มีบางข้อห่วงกังวลด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเป็นปัญหาในช่วงของการรับมือกับโรคโควิด 19 หากไม่ได้รับการแก้ไข ดังนี้
                   - หากรัฐบาลได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรระลึกถึงลักษณะและข้อจำกัดด้านสิทธิมนุษยชนจากประกาศดังกล่าวอย่างครอบคลุมและแม่นยำ โดยประกาศในเรื่อง การเลี่ยงพันธกรณี (Non-derogable) ที่ปรากฏตามข้อ 4 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (โดยได้มีการตีความไว้ปรากฏในข้อคิดเห็นทั่วไปหมายเลขที่ 29) ในส่วนของมาตรการการเฝ้าระวังและการแทรกแซงที่ได้จำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบจะต้องเป็นไปตามกฎหมายและสัดส่วนความจำเป็นอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรระลึกถึงพันธกรณีขั้นต่ำของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม หลักการห้ามผลักดันกลับ (Non - refoulement) และการห้ามขับไล่ (Prohibition of collective expulsion) รวมถึงการห้ามการกักขัง โดยพลการ ตลอดจนกฎเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
                   - สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรให้คำแนะนำอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับกรอบทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อจำกัดในเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย การชุมนุม และการแสดงออก รวมทั้งข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับการกักตัวโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรสนับสนุนในเรื่องข้อจำกัด (restriction) ด้านเวลาที่ไม่ควรล่วงล้ำสิทธิของประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตลอดจนทำความเข้าใจและจัดการกับข้อจำกัดที่เกิดขึ้นภายใต้มิติเรื่องเพศด้วย นอกจากนี้ มาตรการต่างๆ ควรได้รับการทบทวนและเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายและสัดส่วนความจำเป็นอย่างเหมาะสม ในส่วนของข้อจำกัดในเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย หรือข้อจำกัดในการเข้าประเทศหรือพำนักในประเทศ ควรกำหนดโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการขอลี้ภัยของบุคคล ทั้งนี้ กรอบทางกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อรับมือกับโรคโควิด 19 จะต้องทำให้มั่นใจว่าจะไม่เป็นการเลือกปฏิบัติและไม่เป็นการตีตรา แต่เป็นไปบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
                   - การติดตามและการเฝ้าระวังด้านสุขภาพในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ควรคำนึง
ถึงจุดประสงค์ในเรื่องประโยชน์สาธารณะในด้านสาธารณสุขเป็นหลัก
โดยคำนึงภายใต้ข้อจำกัดทั้งช่วงเวลาและขอบเขตที่จำเป็นในแต่ละสถานการณ์ นอกจากนี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรทำให้มั่นใจว่ามาตรการที่กำหนดขึ้นโดยรัฐบาลหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพจะไม่กำหนดมาตรการไปในทางที่ผิด กล่าวคือ กำหนดไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในเรื่องการรับมือโรคโควิด 19 ด้วยการดำเนินการรวบรวมข้อมูลที่เป็นความลับต่าง ๆ
                   - สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด 19 ที่เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของไวรัสในสถานที่คุมขัง สถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงสนับสนุนให้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับการลิดรอนเสรีภาพ โดยมาตรการที่เป็นไปได้ในการรับมือกับเรื่องดังกล่าว เช่น การแยกคนป่วยออกจากคนที่มีสุขภาพดี การจัดพื้นที่เพื่อแยกการดูแลผู้ป่วย และการจัดทำระบบคัดกรองผู้ติดเชื้อในสถานที่คุมขัง เป็นต้น
                   - การปล่อยตัวบุคคลอาจถูกนำมาพิจารณา โดยการปล่อยตัวนี้หมายความรวมถึง เด็ก ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเล็กน้อย ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำจากการติดเชื้อไวรัส ผู้ที่กระทำความผิดเล็กน้อย และผู้ที่ถูกควบคุมตัวเนื่องจากมีความผิดที่ไม่ได้รับการรับรองภายใต้กฎหมาย ทั้งนี้ ในการพิจารณาปล่อยตัวของกลุ่มบุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรึกษาหารือและขอความร่วมมือกับผู้ดูแล รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของไวรัส เพื่อให้แน่ใจว่าได้เตรียมการดูแลที่เพียงพอแล้ว
                   - บุคคลที่อยู่ภายใต้การกักตัวในสถานสงเคราะห์หรือสถานที่คุมขังควรมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ในรูปแบบและภาษาที่เข้าใจได้ง่าย รวมถึงควรยังคงได้รับสิทธิในการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง
                   - ส่งเสริมมาตรการในการเคารพต่อสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมและสิทธิของเหยื่อ เมื่อมีการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19
                   - สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรส่งเสริมให้มีการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ สำหรับประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยรัฐควรใช้มาตรการที่เฉพาะเจาะจงเพื่อจัดการกับสิทธิและความต้องการของกลุ่มหรือบุคคลที่อาจเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เช่น เด็ก ผู้หญิง สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
                   - สนับสนุนอาหาร น้ำ ที่พักพิง การสุขาภิบาล และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันและสุขอนามัย รวมถึงและความช่วยเหลืออื่นๆ โดยประชาชนทุกคนควรสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สภาพความเป็นอยู่ สุขภาพ อาชีพ และเพศ
                   - สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรส่งเสริมในเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงความเพียงพอของสิ่งอำนวยความสะดวกในการดูแลสุขภาพ ยา และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment - PPE) นอกจากนี้ ควรให้ความสนใจกับสภาพการทำงานของบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ตลอดจนดำเนินการสนับสนุนให้บุคลากรด้านสาธารณสุขทั้งหญิงและชายได้มีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและได้รับการจ่ายค่าตอบแทนที่ยุติธรรม
                   - สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรติดตามผลกระทบที่เกิดจากโรคโควิด 19 และมาตรการที่เกี่ยวข้องที่กระทบต่อประชาชนในด้านสิทธิในการทำงาน สิทธิในการมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และสิทธิในการดำรงชีวิต รวมถึงควรสนับสนุนให้รัฐบาลกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากโรคโควิด 19 นอกจากนี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรติดตามแผนงานของรัฐบาลในการรับมือกับโรคโควิด 19 ว่าควรมีการกำหนดถึงมาตรการคุ้มครองผู้ที่ติดโรคโควิด 19 และมาตรการทางรายได้สำหรับผู้ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพรวมถึงแผนดังกล่าวควรให้ความใส่ใจต่อกลุ่มสตรีเป็นการเฉพาะเนื่องจากเป็นกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับความเสี่ยงในการไม่ได้รับค่าตอบแทนเพราะส่วนใหญ่มักเป็นแรงงานนอกระบบ ตลอดจนให้ความใส่ใจต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องการจ้างงานที่ลดลง
                   - สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรประเมินผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 ต่อเศรษฐกิจ และการอุปโภคสิทธิที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ และควรพิจารณาว่ามาตรการบรรเทาทุกข์ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำหนดเพื่อแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นมีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวควรมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วยการสนับสนุนนวัตกรรม การคุ้มครองทางสังคม การศึกษา การเพิ่มขีดความสามารถ และการมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ
                   - สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรแก้ปัญหาในเรื่องของ การตีตรา การเลือกปฏิบัติ การเหยียดเชื้อชาติ ความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ และการยุยงให้เกิดความรุนแรง19 ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลที่มีความถูกต้อง ชัดเจน มีมิติในเรื่องเพศ และมีการอ้างอิงหลักฐาน รวมถึงการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องโรคโควิด 19 นอกจากนี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยโรคโควิด 19 ครอบครัวของผู้ติดเชื้อ ผู้ที่หายจากโรคโควิด 19 แล้ว และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการตีตรา เช่น ผู้อพยพ ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น
                   - ดำเนินการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมในเรื่องการเลือกปฏิบัติ และเรื่องเพศ (เช่น การเหมารวมว่าบทบาทการดูแลครอบครัวเป็นของสตรี หรือผู้หญิงและเด็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่า เป็นต้น) ที่มีอยู่แล้วก่อนเกิดโรคระบาดโดยมีแนวโน้มที่จะเลวร้ายยิ่งขึ้นในช่วงของรับมือกับโรคระบาดอันนำไปสู่การกีดกันสตรีและกลุ่มเปราะบางตลอดชีวิต
ดาวน์โหลด PDF 
***************************
อ่านเพิ่มเติม
          1. คำแนะนำเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/COVID-19.aspx
          2. บทสรุปแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ตามคำแนะนำของสำนักงาน
ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สามารถดาวน์โหลดได้ที่
https://www.ohchr.org /Documents/Events/COVID-19_Guidance.pdf


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375464
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
95
คน