Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 201
แนวทางปฏิบัติ : โรคโควิด 19 และสิทธิมนุษยชนของผู้โยกย้ายถิ่น
ภาพรวม
          วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขในปัจจุบันที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนและชุมชนที่เปราะบางและเป็นชายขอบ โดยผู้โยกย้ายถิ่นทั่วโลกอาจเสี่ยงต่อการถูกตีตรา (Stigma) และการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจถูกกีดกันด้วยเหตุแห่งกฎหมายและนโยบายในเรื่องของการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ตลอดจนอาจถูกกีดกันด้วยเหตุแห่งบริบทด้านสาธารณสุขและการรับมือต่อโรคโควิด 19 ของประเทศที่ผู้โยกย้ายถิ่นพำนักอยู่นั้น
                   - ทุกคน รวมถึงผู้โยกย้ายถิ่นทุกคน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีสถานะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายของการโยกย้ายถิ่นก็ตาม รัฐจะต้องพิจารณาว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ต้องให้บริการสาธารณสุขและเป็นส่วนหนึ่งภายใต้การดำเนินมาตรการเพื่อรับมือต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยมาตรการของรัฐเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยคุ้มครองสิทธิของผู้โยกย้ายถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมสร้างสังคมไม่ให้เกิดความรู้สึกเกลียดและกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) และยังเป็นการคุ้มครองสุขภาพของคนทุกคนในสังคมโดยรวม
                   - รัฐควรใช้มาตรการเฉพาะที่ครอบคลุมถึงอายุ เพศ ความทุพพลภาพ และปัจจัยอื่น ๆเพื่อสนับสนุนผู้โยกย้ายถิ่นในสถานการณ์ที่เปราะบางเช่นนี้ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตอย่างไม่ได้สัดส่วน
 
การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก สินค้า และการบริการด้านสาธารณสุข
          ผู้โยกย้ายถิ่นมักเผชิญกับปัญหาอุปสรรคในเรื่องการเข้าถึงด้านสาธารณสุขด้วยเหตุเพราะข้อจำกัดด้านกฎหมาย นโยบาย ภาษา วัฒนธรรม ค่าใช้จ่าย และข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้ ยังมีกรณีของผู้โยกย้ายถิ่นที่มีสถานะไม่ถูกกฎหมายที่ไม่ยินยอมที่จะเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขด้วยเหตุเพราะเกรงกลัวต่อการถูกจับกุม กักขัง เนรเทศ หรือได้รับการลงโทษต่าง ๆ
                   - ประชาชนทุกคนในดินแดนหรือภายใต้เขตอำนาจศาลของรัฐโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติหรือสถานะการโยกย้ายถิ่นที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในด้านสุขภาพ รัฐมีพันธกรณีในการประกันสิทธิในสุขภาพอนามัยให้กับคนทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติทั้งด้วยเหตุแห่งสัญชาติและสถานะการโยกย้ายถิ่น
                   - รัฐควรกำหนดมาตรการทางกฎหมาย นโยบาย การบริหาร และแนวปฏิบัติ รวมถึงมาตรการรับเรื่องร้องเรียน เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าผู้โยกย้ายถิ่นจะสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก สินค้า และการบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิผลโดยไม่คำนึงว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมีสถานะการโยกย้ายถิ่นที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม
                   - ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด 19 เช่น แนวทางการป้องกัน แนวทางการรักษา และมาตรการในการใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รัฐควรจัดทำและเผยแพร่ข้อมูล/เอกสารในรูปแบบภาษาของผู้โยกย้ายถิ่นเพื่อทำให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าใจและสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐได้
 
ผู้โยกย้ายถิ่นที่อาศัยอยู่ในค่ายหรือในสถานที่ที่มีสภาพไม่ปลอดภัย
          ผู้โยกย้ายถิ่นที่อาศัยอยู่ในค่ายกักกันหรือชุมชนแออัดที่มีสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย และไม่สามารถเข้าถึงน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัยได้ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ปัจจัยในเรื่องเพศและเพศสภาพของผู้โยกย้ายถิ่นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงทางเพศหรือความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ในบริเวณหรือสถานที่ดังกล่าวได้เนื่องจากความเครียดที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ดังนั้น รัฐจึงควรมีการดำเนินการมาตรการเฉพาะเพื่อปกป้องสุขภาพของผู้โยกย้ายถิ่นที่อาศัยอยู่ในค่ายหรือในสถานที่ที่มีสภาพไม่ปลอดภัย ดังนี้
                   - รัฐควรป้องกันโรคระบาดอย่างเหมาะสม โดยมีการตรวจหาเชื้อและรักษาผู้โยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยในค่ายหรือในสถานที่ที่มีสภาพไม่ปลอดภัย
                   - รัฐควรเคลื่อนย้ายผู้โยกย้ายถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพแออัดไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย
                   - รัฐควรจัดหาให้มีการบริการน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย ในพื้นที่พักอาศัยของผู้โยกย้ายถิ่น
                   - รัฐควรมีมาตรการรับมือในเรื่องการจัดเตรียมสถานที่พักพิงฉุกเฉินให้กับผู้โยกย้ายถิ่นและคนไร้บ้าน อันเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยไม่คำนึงถึงสถานะการโยกย้ายถิ่นของพวกเขา
                   - รัฐควรระงับการขับไล่ผู้โยกย้ายถิ่น และควรขยายระยะเวลาการให้พำนักในศูนย์พักพิง หรือสถานที่กักกันผู้โยกย้ายถิ่นต่าง ๆ
                   - รัฐควรมีมาตรการในการรับมือกับความเสี่ยงเรื่องความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในบริเวณที่พักอาศัยของผู้โยกย้ายถิ่นอันเนื่องมาจากสาเหตุความเครียดซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
 
สิทธิในการทำงานที่มีคุณค่าและการคุ้มครองทางสังคม
          ผู้โยกย้ายถิ่นและครอบครัวของพวกเขาจำนวนมากเป็นแรงงานชั่วคราวและแรงงานนอกระบบที่มีค่าแรงต่ำ โดยผลจากมาตรการกักกันเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อาจทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะตกงานและไม่มีเงินเพื่อดำรงชีวิตได้
                   - รัฐควรมีมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่ผู้โยกย้ายถิ่นและครอบครัวของพวกเขาสามารถเข้าถึงได้ โดยรัฐควรช่วยเหลืออย่างไม่คำนึงถึงสถานะการโยกย้ายถิ่นที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม เนื่องจากพวกเขามีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการว่างงานหรือการจ้างงานลดลงอย่างไม่ได้สัดส่วนอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
 
สิทธิการศึกษา
          เด็กผู้โยกย้ายถิ่นอาจเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาเนื่องจากโรงเรียนหรือองค์กรที่จัดการศึกษาให้เป็นการเฉพาะถูกบังคับให้ปิดตามมาตรการกักกันเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นอกจากนี้ อาจยังเผชิญกับอุปสรรคในเรื่องการไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการศึกษาทางไกลได้
                   - รัฐควรดำเนินมาตรการเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าเด็กผู้โยกย้ายถิ่นจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยรัฐ
 
การกักขังผู้โยกย้ายถิ่น
          สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์กักกันคนเข้าเมือง ค่ายผู้โยกย้ายถิ่น หรือสถานที่อื่น ๆ ที่ผู้โยกย้ายถิ่นถูกลิดรอนเสรีภาพ ถือเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับการแพร่กระจายโรคโควิด 19 เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวมักมีสภาพแออัดและขาดการดูแลด้านสุขภาพ อาหาร น้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัยอย่างเพียงพอ
                   - รัฐควรจัดลำดับความสำคัญอย่างเร่งด่วนในการปล่อยตัวผู้โยกย้ายถิ่นออกจากสถานที่กักกันคนเข้าเมือง และควรกำหนดทางเลือกการกักขังรูปแบบอื่น ๆ ตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและสุขภาพของผู้โยกย้ายถิ่นและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานกักกันคนเข้าเมือง
                   - เนื่องจากการกักขังผู้โยกย้ายถิ่นไม่เคยเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก ดังนั้น เด็กและครอบครัวของพวกเขาควรได้รับการปล่อยตัวทันที
                   - รัฐควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจากสถานที่กักกันคนเข้าเมืองจะสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัย อาหาร และการบริการขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ
 
การจัดการพรมแดน
          หลายประเทศทั่วโลกกำลังปิดพรมแดนหรือควบคุมพื้นที่พรมแดนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
                   - การควบคุมพรมแดนที่เข้มงวดขึ้น และมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการ ณ พรมแดนระหว่างจะไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีการรักษาความลับและศักดิ์ศรีของคนทุกคน รวมทั้งควรมีการกำหนดขอบเขตเวลาและสถานที่การกักกันโรคที่ชัดเจน
                   - รัฐควรพิจารณาการกำหนดและขยายระยะเวลาในการพำนักของผู้โยกย้ายถิ่น รวมทั้งแนวทางการขอใบอนุญาตทำงาน (Work permits) ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โยกย้ายถิ่นและคุ้มครองสุขภาพของพวกเขา
                   - รัฐควรพิจารณาระงับการส่งคืนผู้โยกย้ายถิ่นชั่วคราวในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
 
ความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ
          ในสถานการณ์แห่งความหวาดกลัวและความไม่แน่นอนดังเช่นสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นี้ ผู้โยกย้ายถิ่นและชนกลุ่มน้อยอาจมีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อทัศนคติและพฤติกรรมที่จะถูกการตีตราและตกเป็นแพะรับบาปต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
                   - หน่วยงานของรัฐควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าวาทกรรมสาธารณะและมาตรการเพื่อรับมือต่อโรคโควิด 19 จะไม่ก่อให้เกิดโรคเกลียดกลัวชาวต่างชาติและการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ รวมถึงรัฐควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ดำเนินมาตรการในการป้องกัน ตรวจสอบ และจัดการกับการตีตรา เหตุการณ์การเหยียดสีผิว ความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ  และการยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ตลอดจนและความรุนแรงต่าง ๆ
                   - รัฐควรตระหนักว่า ความพยายามในการรับมือต่อโรคโควิด 19 ให้ประสบความสำเร็จสิ่งสำคัญ คือ ความร่วมมืออย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาคมระหว่างประเทศ เพราะโรคโควิด 19 แพร่กระจายไปยังทุกประเทศและทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติการกระทำของรัฐต่อการรับมือโรคดังกล่าวก็ควรไม่เลือกปฏิบัติเช่นกัน
ดาวน์โหลด PDF


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375428
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
59
คน