Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 540
ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนฯ เตือน ระวังมาตรการต่อสู้กับไวรัสจะส่งผลกระทบในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้อ่อนแอและผู้ถูกทอดทิ้งในสังคม ให้รัฐคิดแบบองค์รวมเอาชนะไวรัส
          “โคโรนาไวรัส: สิทธิมนุษยชนต้องคำนึงถึงเป็นอย่างแรกและเป็นศูนย์กลางในการรับมือ
          เจนีวา – นางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2563 ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ กำลังดำเนินมาตรการเพื่อยั้บยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โรคโควิด 19 และทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อลดผลกระทบทางลบที่อาจมีต่อชีวิตของผู้คนมากมาย
          “ในฐานะแพทย์ ดิฉันเข้าใจถึงความจำเป็นสำหรับขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ ในการต่อสู้กับโรคโควิด 19 และในฐานะอดีตหัวหน้ารัฐบาล ดิฉันเข้าใจถึงความยากลำบากในการเลือกการตัดสินใจในสถานการณ์เช่นนี้” นางบาเชเลต์ กล่าว
          "อย่างไรก็ตาม ความพยายามของเราในการต่อสู้กับไวรัสนี้จะไม่สำเร็จ หากเราไม่ใช้วิธีคิดแบบองค์รวม ซึ่งหมายความว่า เราต้องให้การดูแลที่ดีทั้งในด้านการแพทย์และเศรษฐกิจในการปกป้องผู้ที่อ่อนแอที่สุดและผู้ที่ถูกทอดทิ้งในสังคม"
          “คนเหล่านี้รวมถึงผู้ที่มีรายได้น้อย ประชาชนในชนบทที่ห่างไกล ผู้ที่ต้องได้รับการดูแลสุขภาพ คนพิการ และผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว ผู้สูงอายุในศูนย์ดูแล” นางบาเชเลต์ กล่าวเสริม
          การปิดเมือง การกักตัว และมาตรการอื่น ๆ เพื่อปิดกั้นและต่อสู้กับการแพร่กระจายของโรคโควิด 19 ควรดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและในทางที่จำเป็นและได้สัดส่วนกับความเสี่ยงที่ประเมินแล้ว – ถึงแม้ขณะนี้ ก็อาจมีผลสะท้อนกลับที่อันตรายต่อชีวิตของผู้คน ข้าหลวงใหญ่ ฯ กล่าว
          ในขณะที่ทางการ อาจตัดสินว่า จำเป็นต้องปิดโรงเรียน สิ่งนี้อาจส่งผลให้ผู้ปกครองต้องอยู่บ้านดูแลบุตรหลานและไม่สามารถไปทำงานได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่น่าจะส่งผลกระทบต่อสตรีอย่างไม่ได้สัดส่วน
          การหยุดทำงานเพื่อ "แยกตัวเอง" อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียรายได้หรือตกงาน ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตและชีวิตของผู้คนในวงกว้าง การดูแลสุขภาพสำหรับผู้ที่มีอาการเรื้อรังหรืออาการน่าวิตกอาจถูกขัดขวางจากการตอบโต้กับการระบาดของโรค การหยุดชะงักทางการค้าและการเดินทางมีแนวโน้มที่จะมีผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างและผู้รับบริการ
          "ประชาชนผู้ซึ่งแทบจะเอาตัวรอดไม่ได้ทางเศรษฐกิจ อาจจะสิ้นสุดความอดทนได้ง่ายต่อมาตรการโควิด 19 รัฐบาลจำเป็นต้องพร้อมที่จะตอบสนองในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรับผลที่จะตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจจากการดำเนินมาตรการโควิด 19 ภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีบทบาท รวมถึงการตอบสนองด้วยความยืดหยุ่นต่อผลกระทบที่จะเกิดกับพนักงาน" นางบาเชเลต์ กล่าว
          ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยินดีเมื่อทราบว่า บางรัฐบาลรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ กำลังเริ่มใช้มาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน
          "เนื่องจากเราทุกคนกำลังดำเนินงานในเรื่องที่เราไม่มีประสบการณ์ ดิฉันขอสนับสนุนให้รัฐกำหนดวิธีการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีที่พวกเรากำลังดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบทางสังคม – เศรษฐกิจของโรคโควิด 19 และความพยายามที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาด ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความร่วมมือกันระหว่างประเทศจำเป็นอย่างที่สุดในยามนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าทรัพยากรจะต้องถูกนำไปใช้กับการคุ้มครองทางสังคมเพื่อให้ผู้คนสามารถอยู่รอดได้ในเชิงเศรษฐกิจในช่วงที่อาจเกิดวิกฤติที่ยืดเยื้อ" นางบาเชเลต์ กล่าว
          "โรคโควิด 19 เป็นบททดสอบหนึ่งสำหรับสังคมของเรา และเราทุกคนกำลังเรียนรู้และปรับตัวเมื่อเราตอบสนองต่อไวรัส ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเป็นอย่างแรกและเป็นศูนย์กลางในความพยายามนั้น ไม่ใช่มาพิจารณาภายหลัง
          นางบาเชเลต์ กล่าว
          การต่อสู้กับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพหมายถึงการทำให้มั่นใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้และไม่ได้ถูกปฏิเสธการดูแลสุขภาพเพราะพวกเขาไม่สามารถจ่ายได้หรือเพราะการถูกตีตรา
          รัฐบาลจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าถึงทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น รวมถึงในรูปแบบและภาษาที่เข้าใจได้ง่ายและปรับให้เหมาะกับผู้ที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น เด็ก ผู้พิการทางสายตาและผู้พิการทางการได้ยิน และผู้ซึ่งมีข้อจำกัดหรือไม่สามารถอ่านออก
          “การเปิดกว้างและโปร่งใสเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างพลังและกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองสุขภาพของตนเองและของประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความเชื่อมั่นต่อทางการได้ถูกบั่นทอน การเปิดกว้างและโปร่งใสดังกล่าวจะช่วยรับมือกับข่าวสารที่ผิดพลาดหรือข่าวสารที่ทำให้เข้าใจผิด ซึ่งเป็นอันตรายมากเพราะยิ่งเท่ากับเติมเชื้อไฟแห่งความกลัวและอคติ” ข้าหลวงใหญ่ ฯ กล่าว
          "ดิฉันขอเรียกร้องให้ทางการในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อจัดการกับเหตุการณ์หวาดกลัวชาวต่างชาติหรือการตีตราชาวต่างชาติ" นางบาเชเลต์ กล่าวเสริม
          ที่มา https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx
 


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375460
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
91
คน