Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 135
กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 23/2565 กสม. ประสานการคุ้มครองสิทธิฯ ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหารถขนส่งสินค้าจอดขวางป้ายรถประจำทาง ย้ำหลักการดำเนินธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชน - ประสานกรมการปกครองแก้ปัญหาให้เด็กหญิงวัย 7 ขวบได้รับการแจ้งเกิดและสัญชาติ ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลเชิงรุกในพื้นที่จังหวัดอุบลฯ
วันที่ 23 มิถุนายน 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 23/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

1. กสม. ประสานการคุ้มครองสิทธิฯ ร่วมกับ กทม. กองบังคับการตำรวจจราจร และบริษัทเอกชน แก้ไขปัญหารถขนส่งสินค้าร้านสะดวกซื้อกระทบสิทธิผู้ใช้บริการรถประจำทาง ย้ำหลักการดำเนินธุรกิจอย่างเคารพสิทธิฯ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะรายหนึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ระบุว่า ผู้ร้องอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ขณะที่รอรถโดยสารสาธารณะกลับบ้านบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอุดมสุข เขตบางนา กรุงเทพมหานคร มีรถขนส่งสินค้าของร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง จอดขวางทางเดินรถโดยสารสาธารณะ ทำให้ประชาชนมองไม่เห็นรถโดยสารสาธารณะและต้องลงมายืนบนพื้นผิวจราจร ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ จึงขอความช่วยเหลือ 

กสม. พิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่ากรณีนี้เกี่ยวกับสิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนทำได้ด้วยการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง จึงได้ดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังกรุงเทพมหานคร บริษัทต้นสังกัดของร้านสะดวกซื้อ และกองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งต่อมาได้รับทราบว่า กรุงเทพมหานครโดยสำนักงานเขตบางนา และกองบังคับการตำรวจจราจร ได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประสานงานกัน พร้อมแจ้งไปยังบริษัทฯ โดยตรงเพื่อแก้ไขปัญหาการจอดรถขนส่งสินค้ากีดขวางป้ายหยุดรถประจำทางสาธารณะแล้ว ขณะที่บริษัทฯ ก็ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับบริษัทขนส่งสินค้า โดยได้ปรับเปลี่ยนขนาดรถขนส่งสินค้าให้เล็กลงและปรับเวลาในการจัดส่งสินค้าเป็นช่วงเวลากลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาการจราจรหนาแน่นและป้องกันไม่ให้รถขนส่งสินค้าจอดกีดขวางป้ายหยุดรถประจำทางสาธารณะแล้ว 

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 จึงมีมติเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ร้องตามสมควรแล้ว จึงมีมติเห็นชอบผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

“การดำเนินธุรกิจอย่างเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นอีกเรื่องที่ กสม. ให้ความสำคัญ โดยที่ผ่านมาได้ประสานความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการที่สอดคล้องตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น แม้จะดูเป็นปัญหาเล็ก ๆ แต่ก็สะท้อนว่าภาคธุรกิจจะต้องไม่ละเลย ต้องตระหนักถึงความสำคัญของหลักการดังกล่าว และร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเข้าใจ” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

2. กสม. ประสานกรมการปกครองแก้ไขปัญหาเด็กหญิง 7 ขวบไม่ได้รับการแจ้งเกิดและสัญชาติ ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ แก้ไขปัญหาสถานะบุคคลเชิงรุกที่อุบลราชธานี 

เมื่อเดือนธันวาคม 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีเด็กหญิงอายุ 7 ขวบ ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชุมพร ประสบปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ เนื่องจากถูกทอดทิ้งตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารก ต่อมา มีผู้ประสงค์จะรับเด็กหญิงรายดังกล่าวเป็นบุตรบุญธรรม จึงยื่นคำร้องต่อสำนักงานทะเบียนอำเภอสวี (ผู้ถูกร้องที่ 1) เพื่อแจ้งเกิดและขอสัญชาติไทยให้แก่เด็ก แต่ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถรับแจ้งการเกิดและไม่สามารถพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่เด็กหญิงรายดังกล่าวได้ ต่อมาเมื่อมีการอุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานทะเบียนอำเภอสวี สำนักงานทะเบียนจังหวัดชุมพร (ผู้ถูกร้องที่ 2) ก็ยืนยันคำสั่งตามความเห็นของสำนักงานทะเบียนอำเภอสวี ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า การปฏิเสธไม่รับแจ้งการเกิดและไม่พิจารณาให้สัญชาติไทยแก่เด็กหญิงรายดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ข้อ 7 กำหนดให้เด็กจะต้องได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และมีสิทธิที่จะมีชื่อนับแต่เกิด นอกจากนี้คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติได้มีข้อชี้แนะทั่วไปลำดับที่ 7 (General Comment) กล่าวถึงความจำเป็นในการมีทะเบียนเกิดของเด็กทุกคน ทั้งนี้จากการตรวจสอบปรากฏว่า เดิมหน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสองปฏิเสธไม่รับแจ้งเกิดและไม่พิจารณามอบสัญชาติไทยให้แก่เด็กหญิงรายดังกล่าว โดยอ้างว่าเนื่องจากกระบวนการสอบสวนประจักษ์พยานบุคคล พยานเอกสาร และการรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถยืนยันได้ว่าเด็กหญิงรายดังกล่าวเป็นบุตรผู้ใด สัญชาติใด และเกิดที่ใด เป็นเหตุให้ต้องตกเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ จึงเป็นการดำเนินการที่กระทบต่อสิทธิของเด็กหญิงรายดังกล่าว และอาจถือได้ว่ามิได้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว กสม. ได้ประสานไปยังกรมการปกครอง พบว่า กรณีของเด็กหญิงรายนี้ กรมการปกครองเห็นควรให้ได้รับการแจ้งเกิดและได้สัญชาติไทยตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายและตามหลักการผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก โดยกรมการปกครองได้ประสานให้สำนักทะเบียนทั้งสองแห่งดำเนินการรับแจ้งเกิดและพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่เด็กหญิงรายดังกล่าว จนทำให้เด็กได้รับสัญชาติไทยและมีบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 จึงมีมติเห็นว่าปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมแล้ว เห็นควรยุติเรื่อง

นอกจากการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลรายกรณีตามเรื่องร้องเรียนข้างต้น กสม. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบร่วมกับเครือข่าย ทั้งการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นและกลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่จังหวัดอุบลราชธานี เพชรบุรี ตราด ระนอง และจะดำเนินการในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ต่อเนื่อง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมกับนายสมยศ  พุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการปกครอง นายสุริยศักดิ์  เหมือนอ่วม ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง นายฐิติพล  ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมคลินิกสิทธิมนุษยชนกับสถานะบุคคลขึ้นในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาสำหรับคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร คนไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง และคนไทยที่ถูกจำหน่ายรายการ และจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ทางทะเบียนและทำบัตรประจำตัวบุคคลสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บุคคลประเภท 0) รวมทั้งสิ้น 236 ราย

“การจัดกิจกรรมดังกล่าวซึ่งมีพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่นำร่อง เป็นการแสดงเจตจำนงในรูปแบบภาคีร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลเชิงรุกที่หน่วยงานรัฐจะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประสบปัญหาสถานะบุคคลในพื้นที่ห่างไกลต่าง ๆ โดยมิได้เป็นเพียงหน่วยตั้งรับเท่านั้น การทำงานในลักษณะนี้จะช่วยลดภาระและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสิทธิสถานะบุคคลให้แก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งเข้าไม่ถึงโอกาสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” รองเลขาธิการ กสม. กล่าว

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
23 มิถุนายน 2565

23/06/2565

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5376946
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1577
คน