Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 363
กสม.หนุนรัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและบังคับสูญหายตามหลักการสากล ชงกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกควบคุมตัว-วางกลไกตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำผิดอย่างโปร่งใส
            นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สม 0006/74 ลงวันที่ 7 กันยายน 2564 แจ้งข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ไปยังประธานรัฐสภา สืบเนื่องมาจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัด “เสวนาหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาการซ้อมทรมาน: มาตรการทางกฎหมาย และอื่น ๆ” เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วมการระดมความคิดเห็น โดย กสม.ได้ประมวลข้อคิดเห็นประกอบกับหลักสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อนุสัญญาการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคล ทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (CED) แล้ว จึงมีข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
            1. หลักการสำคัญของกฎหมาย ควรกำหนดให้มีบทบัญญัติที่แสดงสิทธิเด็ดขาดอันไม่อาจถูกเพิกถอนได้ว่า บุคคลจะไม่ถูกกระทำทรมานหรือถูกกระทำให้สูญหายไม่ว่าสถานการณ์พิเศษใด ๆ และให้รวมถึงการกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กำหนดให้มีมาตรการการป้องกันการทรมานหรือการถูกกระทำให้บุคคลสูญหาย มิให้เกิดขึ้นซ้ำด้วยการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างปราศจากการแทรกแซง นอกจากนี้ควรกำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัว เช่น สิทธิในการติดต่อกับญาติ สิทธิการมีทนายเข้าร่วมสอบปากคำหรือซักถาม รวมทั้งกำหนดให้มีการชดเชยเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจแก่ผู้ถูกกระทำทรมานหรือถูกทำให้สูญหายอย่างเต็มที่
            2. การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควรกำหนดให้มีการบันทึกภาพและเสียงที่มีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้ตลอดเวลาในการจับกุม การควบคุมตัว การสอบสวน สถานที่กักขัง หรือสถานที่ควบคุมตัว และมีระบบจัดเก็บข้อมูลที่เพียงพอต่อการตรวจสอบย้อนหลังเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย นอกจากนี้ควรกำหนดให้การจับ ขัง หรือค้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องได้รับการรับรองจากพนักงานอัยการ และควรกำหนดให้พนักงานอัยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ขั้นตอนการควบคุมตัว
            3. การดำเนินคดีในชั้นศาล ห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้มาจากการทรมานหรือการถูกกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อเป็นการยืนยันและแสดงให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่า การได้มาซึ่งพยานหลักฐานจากการทรมานหรือการถูกกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะอ้างเหตุความมั่นคงของชาติ เพื่อการปราบปรามยาเสพติด เพื่อการคลี่คลายอาชญากรรมร้ายแรง หรือเพื่อการอื่นใดนั้น ไม่อาจกระทำได้ในทุกกรณี กำหนดให้ภาระการพิสูจน์ความรับผิดตกอยู่แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ควรกำหนดให้การกระทำทรมาน หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องถูกพิจารณาโดยศาลอาญาหรือศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาคดีในทุกกรณี และกำหนดให้ความผิดฐานกระทำทรมาน และฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ
            4. คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ต้องมิใช่บุคคลในหน่วยงานเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกร้องเรียน คณะกรรมการฯ ต้องมีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐานและความเห็นจากการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอต่อศาลอาญาหรือศาลยุติธรรม นอกจากนี้ควรกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการฯ แต่งตั้งมาจากผู้แทนของผู้เสียหายคดีการทรมานและคดีการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วย
ดาวน์โหลด PDF

08/09/2564

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375514
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
145
คน