Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 79
กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 10/2564 กสม. ร่วมสถาบันสิทธิฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดตัวแนวปฏิบัติว่าด้วยการป้องกันการทรมาน - ลงพื้นที่ประสาน ผวจ.สุพรรณบุรีให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังนานเกือบสามเดือน
            วันที่ 2 ธันวาคม 2564 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 10/2564 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
            1. กสม.ไทยร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) เปิดตัวแนวปฏิบัติว่าด้วยการป้องกันการทรมานระดับภูมิภาค ผลักดันการปฏิรูปเรือนจำและระบบราชทัณฑ์ให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน
            เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีครั้งที่ 18 ของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum - SEANF) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Komnas HAM) มาเลเซีย (SUHAKAM) เมียนมา (MNHRC) ฟิลิปปินส์ (CHRP) และผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์-เลสเต (PDHJ)
            ในการนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันเปิดตัว “แนวปฏิบัติของ SEANF ว่าด้วยการป้องกันการทรมาน” (South East Asia National Human Rights Institutions Forum’s Guidelines on Torture Prevention) อย่างเป็นทางการ โดยแนวปฏิบัติดังกล่าวเป็นเอกสารที่รวบรวมและเสนอแนวทางการป้องกันการทรมานเพื่อให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ในการแก้ไขปัญหาการทรมานที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยมีสาระสำคัญ เช่น สถานการณ์การป้องกันการทรมานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อแนะนำการปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องการป้องกันการทรมานและความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะในเรื่องการป้องกันการทรมาน การปกป้องบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการถูกทรมาน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือ และการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT ) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม โดยประเด็นการป้องกันการทรมาน เป็นหนึ่งในสี่ประเด็นสำคัญหลักที่ SEANF จะขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ของ SEANF พ.ศ. 2565 – 2569 ด้วย
            ก่อนหน้านี้ กสม. ได้มีข้อเสนออย่างต่อเนื่องให้รัฐบาลเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แจ้งข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ไปยังประธานรัฐสภา ทั้งในส่วนหลักการสำคัญของกฎหมาย เช่น การเป็นสิทธิเด็ดขาดที่ไม่อาจละเมิดได้และไม่ควรมีอายุความ การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การดำเนินคดีในชั้นศาล และการกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วย
            นอกจากการประชุมประจำปีของ SEANF เมื่อวันที่ 29 – 30 พฤศจิกายน 2564 ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการปฏิรูปเรือนจำ (Regional Conference on Prison Reform) ร่วมกับสมาชิก SEANF ผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนในระบบราชทัณฑ์ และการสนับสนุนวาระว่าด้วยการปฏิรูปเรือนจำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังประสบข้อท้าทายต่าง ๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาเชิงระบบของงานราชทัณฑ์ ซึ่งหลังจากนี้ SEANF จะได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือข้อหารือส่งไปยังรัฐบาลของแต่ละประเทศหรือเสนอในกรอบความร่วมมือของอาเซียนเพื่อให้มีการปฏิรูประบบราชทัณฑ์และกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลต่อไป
            “ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังสูงสุดในอาเซียนและเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ประสบปัญหาสถานที่ควบคุมไม่เพียงพอและได้สัดส่วนกับจำนวนผู้ต้องขัง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความแออัดอันเสี่ยงต่อการได้รับและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และปัญหาผู้ต้องขังได้รับการปฏิบัติดูแลตามสิทธิขั้นพื้นฐานและมาตรฐานสากลอย่างไม่ทั่วถึง การปฏิรูปเรือนจำและระบบราชทัณฑ์ รวมทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น การใช้มาตรการทางเลือกอื่นในการลงโทษแทนการคุมขัง การทบทวนกฎหมายที่มีโทษทางอาญาโดยไม่จำเป็น การป้องกันการทรมาน จึงเป็นนโยบายสำคัญที่ กสม. ให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนทั้งในระดับชาติและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว
 
            2. กสม. ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ตรวจสอบพื้นที่น้ำท่วม ประสานผู้ว่าฯ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำเสีย แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนรับมือระยะเร่งด่วนและระยะยาว
            ตามที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 กรณีสิทธิชุมชุนอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งกล่าวอ้างว่าการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานของรัฐไม่มีประสิทธิภาพเป็นเหตุให้น้ำท่วมและทรัพย์สินเสียหาย โดยผู้ร้องซึ่งพักอาศัยในเขตพื้นที่อำเภอสองพี่น้องและอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ให้ข้อมูลว่าพื้นที่ดังกล่าวเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขังสูงกว่า 3 เมตร และเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียเพราะไม่มีการระบายน้ำที่ดี ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมนานเกือบสามเดือนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ไม่สามารถใช้ห้องน้ำได้ และไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้ เนื่องจากพืชผลทางการเกษตรและบ่อปลา บ่อกุ้ง จมน้ำได้รับความเสียหายในวงกว้าง โดยเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเร่งสำรวจความเสียหาย วางระบบการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่รับน้ำที่ไม่กระทบบ้านเรือนของประชาชน รวมทั้งวางระบบการแจ้งเตือนน้ำหลากล่วงหน้า นั้น
            เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่และรับฟังข้อเท็จจริงจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง และได้เดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี (นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป) เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดสุพรรณบุรีในประเด็นการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน แนวทางการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาความเสียหายแก่ประชาชนในระยะสั้นและในระยะยาว ตลอดจนมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
            โดยในเบื้องต้นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อเสนอแนะให้ทางจังหวัดสุพรรณบุรีแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน โดยเร่งสำรวจความเสียหายที่ประชาชนได้รับจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว รวมทั้งเร่งระบายน้ำที่ยังคงท่วมขังในพื้นที่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมและแก้ไขบำบัดปัญหาน้ำเน่าเสีย นอกจากนี้ได้เสนอให้คณะกรรมการลุ่มน้ำในเขตลุ่มน้ำของจังหวัดสุพรรณบุรีจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมขึ้นไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อเตรียมการรองรับการเกิดภาวะน้ำท่วมทั้งในกรณีปกติเป็นประจำฤดูกาล และกรณีฉุกเฉินที่มีน้ำท่วมเกิดขึ้นโดยฉับพลัน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในเขตลุ่มน้ำ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาตรา 64 ส่วนในระยะยาว กสม. เห็นว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและจัดทำระเบียบหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาความเสียหายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมและภาวะน้ำแล้ง เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 66 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลด PDF

02/12/2564

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375464
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
95
คน