Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 248
กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 20/2565 กสม. ประกาศผลการคัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 - ร่วมเครือข่ายประชาชนสรุปบทเรียน 10 ปี พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 5) ชงกรมการปกครองและสภาความมั่นคงฯ เร่งคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่น
          วันที่ 2 มิถุนายน  2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 20/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
          1. กสม. ประกาศผลการคัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564
          ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดให้มีการมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 เพื่อยกย่อง เชิดชู และประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่อุทิศตนปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้สังคมได้รับรู้ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ตลอดจนเพื่อประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ประวัติ ผลงานของบุคคลและองค์กรที่ได้รับรางวัลให้เป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจแก่บุคคลอื่นในสังคม โดยได้ประกาศรับสมัครและเชิญชวนให้เสนอชื่อบุคคลและองค์กร ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม – 28 ตุลาคม 2564 ซึ่งปรากฏว่า มีบุคคลและองค์กรที่สมัครและได้รับการเสนอชื่อ รวมทั้งสิ้น จำนวน 118 ราย แบ่งเป็นประเภทบุคคล จำนวน 76 ราย ประเภทองค์กรภาครัฐ จำนวน 35 ราย และองค์กรภาคเอกชน จำนวน 7 ราย นั้น
          กสม. ในการประชุมด้านบริหาร เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 มีมติรับรองผลการพิจารณาดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 8 รางวัล จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ดังนี้
              1) ประเภทบุคคลทั่วไป จำนวน 6 รางวัล ได้แก่
                  (1) นายพงศ์ธร จันทร์เลื่อน ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส องค์กรในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านป้องกันเอชไอวี (HIV) และเอดส์ (AIDS) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมถึงด้านสุขภาพทางเพศและสิทธิทางเพศในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเป็นผู้มุ่งมั่นทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแก่คนข้ามเพศและบุคคลหลากหลายทางเพศมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ เช่น การผลักดันให้มีกฎหมายคู่ชีวิต ที่เปิดโอกาสให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้เหมือนคู่สมรสหญิงชายทั่วไป
                  (2) นายนิพนธ์ ตั้งแสงประทีป ผู้ดำเนินรายการ Big story เรื่องใหญ่ ThaiPBS ผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชนมามากกว่า 27 ปี และได้นำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตสารคดีเชิงข่าวผ่านรายการ Big story เรื่องใหญ่ ThaiPBS เช่น การนำเสนอประเด็นสิทธิชุมชนในการร่วมดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สิทธิของกลุ่มเปราะบางอย่างคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประเด็นสถานะบุคคลของสามเณรไร้สัญชาติจำนวนหลายพันรูปที่เข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล หรือประเด็นผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งหลายประเด็นที่นำเสนอก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรม
                  (3) นางสาวภูษา ศรีวิลาศ  ผู้อำนวยการโครงการเลี้ยงดูทดแทน มูลนิธิก้าวหน้าพัฒนา (Step Ahead Foundation) และผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต เมื่อครั้งทำงานในฐานะข้าราชการ มีผลงานด้านการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองเด็กและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวนมาก เช่น การประสานความร่วมมือในกลุ่มประเทศริมน้ำโขงเพื่อรับตัวผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์กลับคืนสู่ภูมิลำเนา ปี 2555 ภายหลังลาออกจากราชการ ได้เข้าทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศหลายแห่ง โดยขับเคลื่อนให้เกิดการป้องกันการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กเชิงพาณิชย์ ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ปัจจุบันรณรงค์ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิเด็กกับการเลี้ยงดูทดแทน
                  (4) นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เริ่มงานในฐานะครูข้ามแดนในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือตอนบน โดยสนับสนุนให้เด็กเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ด้อยโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสม และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มผู้สูงอายุผ่านการประดิษฐ์ของเล่นไม้จากวัสดุธรรมชาติ นอกจากนี้ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ได้จัดกิจกรรมอบรมครู เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปส่งเสริมเยาวชนในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อและการผลิตสื่อสร้างสรรค์ รวมทั้งยังทำงานกับเครือข่ายประชาชนชายแดนไทย เมียนมาร์ และลาว เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาโดยไม่เลือกชาติพันธุ์ 
                  (5) นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ร่วมกับชุมชนในเขตอำเภอเมืองและอำเภอกุยบุรี เพื่อปกป้องทรัพยากรชายฝั่งจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก และผู้ก่อตั้ง “เครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์” เพื่อดูแลปกป้องทรัพยากรชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ในปี 2551 ยังได้สนับสนุนจัดตั้ง “สมาคมชาวประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย” ซึ่งดำเนินกิจกรรม “ธนาคารปู” ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้ชาวประมงพื้นบ้านในประเทศไทยอีกหลายกรณี
                  (6) นางสาวกูปัทมา กาลีกาตะโป อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อาจารย์ที่รับผิดชอบรายวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2560 โดยได้นำเรื่องสิทธิมนุษยชนมาบูรณการในการเรียนการสอนของนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งกลุ่ม “สตรีเพื่อชุมชน” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางกฎหมายว่าด้วยเรื่องสิทธิสตรีที่ไม่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม รวมทั้งองค์ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก และกฎหมายที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวแก่ชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้
              2) ประเภทองค์กรภาครัฐ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่
                  องค์การบริหารส่วนตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผลงานเด่นในการริเริ่มโครงการจำแนกที่ดิน – ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในเขตพื้นที่ตำบลแม่แดด ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพชีวิตให้กับราษฎรในพื้นที่กว่า 1,236 ครัวเรือน ซึ่งดำรงชีวิตที่พึ่งพากับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาหลายชั่วอายุคน แต่ไร้ซึ่งสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมตำบลแม่แดดเพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS Database : Geographic Information System) ด้านการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตำบลแม่แดดทั้ง 8 หมู่บ้าน ผลงานดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบป่าไม้กับชุมชนเพื่อลดความขัดแย้งและนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนในการบริหารจัดการพื้นที่ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถดำรงชีวิตและใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
              3) ประเภทองค์กรภาคเอกชน จำนวน 1 รางวัล ได้แก่
                  มูลนิธิกระท่อมพระสิริ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ให้ได้เข้าพักฟื้นและเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ตลอดจนสนับสนุนส่งเสริมด้านอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมายเมื่อกลับสู่สังคมภายนอก มูลนิธิฯ เริ่มให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ในพื้นที่พัทยา อำเภอบางละมุง ต่อมาได้ขยายพื้นที่การให้ความช่วยเหลือไปทั่วทั้งจังหวัดชลบุรี และทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ ทั้ง ผู้ป่วยเอดส์ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ พนักงานบริการทางเพศ เด็กผู้รับผลกระทบจากครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงผู้ป่วยเอดส์ที่ถูกทอดทิ้งไร้ที่พักพิง ปัจจุบัน มูลนิธิฯ มีคนยากจน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และคนไร้บ้านที่อยู่ในความดูแลกว่า 40 ราย โดยมีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการรับบริจาคเงินและสิ่งของจากประชาชนทั่วไปและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานฝีมือของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยมุ่งหวังให้ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเองได้และกลับสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี
          2. กสม. รับฟังปัญหาและการสรุปบทเรียน 10 ปี พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 ชงกรมการปกครองและสภาความมั่นคงฯ เร่งแก้ปัญหาการคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่น
          เมื่อวันที่ 28 - 29 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ มูลนิธิชุมชนไท ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)  กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย วิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคมและคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สำนักข่าว The reporter และสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส สนับสนุนกิจกรรม “สรุปบทเรียน 20 ปี เครือข่าย ฯ 10 ปี กฎหมายฯ เส้นทางสู่ความเป็นพลเมืองไทย ” ของเครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทยหรือคนไทยพลัดถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปบทเรียน ปัญหา ความท้าทาย และความสำเร็จในการทำงานของเครือข่าย ฯ และสรุปบทเรียน 10 ปี ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555) ว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
          นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวและรับฟังความคิดเห็นจาก สมาชิกเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นกว่า 400 คนจาก 4 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร และพังงา และได้ร่วมกับนายสมยศ พุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการปกครอง พร้อมผู้แทนภาคีความร่วมมือมอบบัตรประชาชนให้แก่คนไทยพลัดถิ่นจำนวน 52 คน ด้วย
          จากการลงพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมและรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
              1) คนไทยพลัดถิ่นเป็นผู้มีเชื้อสายไทย ที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต และปัจจุบันคนกลุ่มนี้ได้อพยพกลับเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศแล้วนานกว่า 20 ปี มีการสำรวจขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการคืนสัญชาติไทยให้ครบถ้วน จึงเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้น กรมการปกครองควรเร่งการคืนสัญชาติให้คนกลุ่มนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
              2) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของการบังคับใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555) กรมการปกครองได้ขึ้นทะเบียนคนไทยพลัดถิ่นไว้ประมาณ 18,000 คน คืนสัญชาติได้ประมาณ 10,000 คน โดยมีผู้ที่ยังไม่ได้คืนสัญชาติกว่า 8,000 คน ขณะที่เครือข่ายฯ ให้ข้อมูลว่ายังมีผู้ผิดหลงทางทะเบียน ผู้ถูกจำหน่าย ผู้ตกสำรวจ เด็กที่เกิดใหม่ และกลุ่มมุสลิมที่ยังไม่ชัดเจนในการจัดกลุ่ม อีกจำนวนกว่า 25,000 คน ดังนั้น กรมการปกครองและสภาความมั่นคง ควรดำเนินการสำรวจจำนวนผู้ตกค้างให้เกิดความชัดเจนโดยใช้กระบวนการสำรวจแบบมีส่วนร่วมของเครือข่าย ฯ องค์กรชุมชน/ท้องถิ่น
              3) กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น เป็นเครือข่ายของคนไร้สัญชาติ ที่รวมกลุ่มรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งต่อเนื่องและยาวนาน รวมทั้งมีกระบวนการติดตาม ทวงถามการแก้ปัญหามาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและมุสลิมมีการช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปันกัน จึงเป็นรูปธรรมของการอยู่ร่วมกันของชนต่างวัฒนธรรมที่น่ายกย่อง
              4) นักวิชาการชี้ว่า บทเรียน10 ปีของการบังคับใช้กฎหมายสัญชาติฉบับที่ 5 ยังมีปัญหาอุปสรรค เนื่องจากการใช้ดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ และการไม่กำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในกระบวนการพิสูจน์ อีกทั้งคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเขียนคำขอพิสูจน์ฯ และอาจเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตเรียกรับเงินสินบน
              5) ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ของการรอคืนสัญชาติไทย กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ไม่มีสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน รวมทั้งการเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย
          นางปรีดากล่าวว่า กฎหมายคืนสัญชาติให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งมีสาระเพิ่มบทนิยามคนไทยพลัดถิ่น และให้มีคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ถือเป็นความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในแง่หนึ่งแล้ว หน่วยราชการควรเร่งดำเนินการและบูรณาการการทำงานแก้ไขปัญหาคนไทยพลัดถิ่นอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ โดยต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมด้วย
          “กสม. มีแผนดำเนินการเรื่องคนไทยพลัดถิ่น โดยสนับสนุนการศึกษาปัญหาและทางออกของกฎหมายรวมถึงระเบียบและแนวปฏิบัติที่มีข้อจำกัด รวมทั้งการศึกษาสำรวจผู้มีปัญหาติดขัดในการยื่นคำขอฯ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยจะมีการหารือกับกรมการปกครองและสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
02-06-65-Press-release-แถลงข่าว-20-2565.pdfดาวน์โหลด PDF

02/06/2565

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375421
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
52
คน