Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ผลการดำเนินงาน View : 198
สาร เนื่องในโอกาส “วันสตรีสากล” 8 มีนาคม ประจำปี 2564
            ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับสิทธิและเสรีภาพที่กำหนดในปฏิญญาอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุต่าง ๆ รวมทั้งด้วยเหตุแห่งเพศ ประกอบกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination against Women - CEDAW) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามได้รับรองสิทธิความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย โดยขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและส่งเสริมให้ผู้หญิงได้เข้าถึงสิทธิและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในด้านต่าง ๆ เช่น การทำงาน การมีส่วนร่วมทางการเมือง การศึกษา การได้รับบริการด้านสาธารณสุข สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการได้รับความคุ้มครองโดยเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 ได้รับรองความเสมอภาคของบุคคลภายใต้กฎหมายและรับรองว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน รวมทั้งห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อกันด้วยเหตุแห่งเพศ
            จากการติดตามและประเมินสถานการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พบว่า แม้ผู้หญิงและบุคคลหลากหลายทางเพศจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายให้มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมชาย แต่ในทางปฏิบัติ ยังมีการกีดกันและเลือกปฏิบัติในด้านต่าง ๆ เพราะอคติทางเพศ ผู้หญิงและบุคคลหลากหลายทางเพศจำนวนไม่น้อยยังต้องเผชิญกับการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การถูกคุกคามทางเพศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งสถิติจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ระหว่างปี 2560 – 2563 บ่งชี้ว่าภาพรวมทั่วประเทศ มีกรณีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2563 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวจำนวน 1,865 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 1,309 ราย และผู้ถูกกระทำเป็นเพศหญิงสูงถึง ร้อยละ 84
            ในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายให้กักตัวอยู่บ้านและปิดสถานที่ต่าง ๆ ผู้หญิงหลายคนที่ออกไปทำงานไม่ได้ยิ่งต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ผู้หญิงสูงอายุจำนวนมากที่อยู่ลำพังโดยเฉพาะในชนบท ซึ่งลูกหลานวัยแรงงานไปทำงานในเมืองก็ขาดผู้ดูแลทำให้มีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน ขณะผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยซึ่งทำหน้าที่เป็นแถวหน้าในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ก็ต้องแบกรับภาระที่หนักขึ้นด้วยต้องรับผิดชอบทั้งหน้าที่ในงานเพื่อสังคมและการดูแลครอบครัวของตนไปพร้อมกัน
            ในโอกาสวันสตรีสากล (International Woman’s Day) 8 มีนาคม ประจำปี 2564  ภายใต้แนวคิดของสหประชาชาติที่ว่า Women in leadership: Achieving an equal future in a COVID-19 world’ หรือ ผู้หญิงกับภาวะผู้นำ : ความสำเร็จในโลกอนาคตที่เท่าเทียมกันภายใต้สถานการณ์ของโรคโควิด 19 กสม. จึงขอถือโอกาสรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของผู้หญิงในฐานะผู้นำแถวหน้าที่เป็นพลังสำคัญในการร่วมแก้ไขวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ของสังคมรวมทั้งวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยขอเรียกร้องให้รัฐตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหา สัดส่วนและบทบาทผู้หญิงในกระบวนการตัดสินใจระดับนโยบาย (women indecision making) เช่น การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ การส่งเสริมบทบาทผู้หญิงในการพัฒนากระแสหลักของประเทศ (women mainstreaming)  และการผลักดันแนวนโยบายและมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ (gender equality) และการเสริมสร้างพลังของผู้หญิง (women empowerment) ในทุกมิติ
            สุดท้ายนี้ กสม. ขอเป็นกำลังใจให้ผู้หญิงทุกคนทุกช่วงวัยมีพลังใจที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะช่วยเหลือดูแลกันและกันเพื่อฝ่าฟันทุกปัญหา และขอเป็นแรงสนับสนุนให้ผู้หญิงรวมทั้งบุคคลหลากหลายทางเพศที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาและความรุนแรงจากอคติเพศได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมของทุกคนในสังคมวันข้างหน้า ที่จะต้องปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศอีกต่อไป
ตามเอกสารแนบ

08/03/2564

© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5397914
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
147
คน