Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าว กสม.
ข่าว View : 128
กสม. ประชุมหารือร่วมเครือข่ายหลากหลายทางเพศ สะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ-แนวทางแก้ไข
          เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมประชุมหารือกับเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อรับฟังสถานการณ์และข้อเสนอแนะทิศทางการทำงานร่วมกัน
          การประชุมดังกล่าวผู้แทนองค์กรเครือข่ายด้านความหลากหลายทางเพศได้สะท้อนปัญหาที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ ทั้งกลุ่มที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศในโรงเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งและไม่ทราบช่องทางในการขอความช่วยเหลือ รวมทั้งผลกระทบที่ได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เช่น การถูกเลิกจ้าง การขาดรายได้ การเข้าไม่ถึงสิทธิด้านสุขภาพ และบางอาชีพไม่ได้การรับรองจึงไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคม โดยผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวขยายเป็นวงกว้าง และผลกระทบมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศมีอัตลักษณ์ทับซ้อน ทั้งผู้พิการ คนสูงวัย สถานการณ์ของคนข้ามเพศในเรือนจำ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้สะท้อนสถานการณ์การใช้สิทธิและเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นเดียวกัน หรือการเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ยังคงค้างอยู่ในชั้นการพิจารณา อาทิ เรื่องการสมรสเท่าเทียม 
          ทั้งนี้ เครือข่ายได้มีข้อเสนอการทำงานร่วมกับ กสม. โดยเห็นว่าควรมีการผลักดันเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศตั้งแต่ระดับโครงสร้างทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่แม้จะบัญญัติว่าห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศเอาไว้ แต่ก็หมายความถึงเพศหญิงและชายเท่านั้น และการกำหนดสัดส่วนเรื่องเพศในการดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการผลักดันให้เป็นจริง และจะต้องนำเรื่องแนวคิดสิทธิมนุษยชน (Human Rights Based Approach) มาเป็นหลักในการปฏิบัติงานให้เกิดความเสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติด้วย
          ที่ประชุมได้สรุปหลักแนวทางเบื้องต้นในการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ 6 เรื่อง ได้แก่ 1) การแต่งกาย  2) การจัดพื้นที่ที่เหมาะสมกับจำนวนของบุคคล อัตลักษณ์ทางเพศสภาพ หรือเพศภาวะของบุคคล เช่น ห้องน้ำ หรือห้องตรวจร่างกาย 3) การรับสมัครงานต้องไม่เลือกปฏิบัติทางเพศควรกำหนดเพียงเรื่องคุณสมบัติเฉพาะด้านวุฒิการศึกษา หรือความสามารถเฉพาะที่สอดคล้องกับลักษณะงาน  4) การใช้ถ้อยคำ ภาษา-กิริยาท่าทาง และเอกสารต่าง ๆ การใช้วาจาที่เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ หรือเพศภาวะของบุคคล 5) การสรรหาคณะกรรมการ-ผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ควรส่งเสริมการสรรหาบุคคลทั้งเพศชาย เพศหญิง หรือผู้มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด เข้าร่วมเป็นกรรมการในทุกระดับ ในสัดส่วนที่เหมาะสม และ 6) การป้องกันแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน การล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน หรือเกี่ยวเนื่องจากการทำงานอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งชาย หญิง และบุคคลผู้มีการแสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด เป็นต้น
          ทั้งนี้ กสม. ได้แสดงความยินดีที่เครือข่ายต่าง ๆ จะร่วมผลักดันการทำงานเพื่อความเสมอภาค ความเท่าเทียม และการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยข้อเสนอแนะที่ได้รับจะนำมาปรับเป็นแผนการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะต่าง ๆ จะได้นำไปบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำต่อไป


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5375988
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
619
คน