Sorry, your browser does not support JavaScript!
-
A A A
+
  • youtube
  • facebook
  • English Thai
ข่าวประชาสัมพันธ์ / ข่าวสำนักงาน กสม.
ข่าว View : 272
กสม. เห็นควรให้รณรงค์เชิงสังคมเพื่อลดอคติต่อผู้ต้องขังหญิง
           เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๖ นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิ เด็ก สตรีและความเสมอภาคของบุคคล พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมและประชุมร่วมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี
              ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรีเป็นสถานที่สำหรับการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังเด็ดขาดภายใต้กำหนดโทษไม่เกิน ๑๐ ปี โดย ณ วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๖ นี้มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น ๑,๗๓๑ คน มีอัตรากำลังเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่รวม จำนวน ๖๖ คน  มีพื้นที่ในส่วนภายในต้องขัง จำนวน ๒๕ ไร่ ๓ งาน และภายนอกทั้งหมดอีก ๓๗ ไร่
               จากการเยี่ยมและร่วมพบปะพูดคุยพบว่า ปัญหาสำคัญของผู้ต้องขังหญิงยังเป็นการที่สังคมยังมีอคติต่อผู้ต้องขังหญิงที่พ้นโทษไปแล้ว ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าควรต้องเร่งรณรงค์สังคม โดยเฉพาะชุมชนต้องเข้าใจและเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังหญิงที่พ้นโทษได้คืนกลับสู่สังคมและมีชีวิตอย่างเป็นปรกติ
               คณะอนุกรรมการฯ พบว่ามีอัตราการกระทำผิดซ้ำตั้งแต่ ๒ ครั้งขึ้นมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้กระทำผิดซ้ำอีกไม่สามารถทนต่อปัจจัยดึงที่สำคัญ ซึ่งได้แก่เงินรายได้จำนวนมากจากการค้ายาเสพติด ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่าในระหว่างที่ต้องโทษต้องหาวิธีการปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยให้สามารถอดทนต่อสิ่งเร้าภายนอกให้มากขึ้น เพื่อมิให้ต้องกระทำผิดซ้ำอีก นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าปัญหาอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังหญิงยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรี
             สำหรับแนวทางในการบำบัด ได้แก่ การสร้างอาชีพโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ต้องขังและตลาดแรงงาน โดยขณะนี้ ได้มีบริษัทเอกชนในลักษณะCall Center ฝึกอาชีพในลักษณะโอปะเรเตอร์และบริษัทเอกชนดังกล่าวได้จ้างผู้ต้องขังหญิงปฏิบัติงานเป็นโอปะเรเตอร์ นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนยางประกอบรถยนต์ ซึ่งเข้ามาจ้างแรงงานต้องขังหญิง ซึ่งผู้ต้องขังหญิงจะได้รับค่าตอบแทน โดยมีแผนจะลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมราชทัณฑ์กับโรงงานผลิตชิ้นส่วนยางดังกล่าวต่อไปในอนาคต
              นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่านอกจากอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอแล้ว       กรมราชทัณฑ์ควรให้ความสำคัญกับการจัดให้มีบริการแพทย์และนักจิตวิทยาสำหรับฟื้นฟูจิตใจผู้ต้องขังด้วย
             คณะอนุกรรมการฯ จะได้นำข้อมูล ปัญหาและอุปสรรค พร้อมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ มาประมวลร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการเยี่ยมทัณฑสถานหญิงทั่วประเทศ นำมาจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ภายหลังจากได้รับความเห็นชอบแล้วจะได้นำเสนอต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป


© 2015 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ. All Right Reserved.
นโยบายเว็ปไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์.

  ipv6 ready 
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด
5377008
คน
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
1639
คน