สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหนือ จัดกิจกรรมการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนจากสถาบันการศึกษาสู่ชุมชน (Human Rights City) ณ จังหวัดขอนแก่น

11/09/2567 514

          เมื่อวันที่ 5 – 8 กันยายน 2567 ที่โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหนือ) ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย และสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ Thai PBS จัดกิจกรรมการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนจากสถาบันการศึกษาสู่ชุมชน (Human Rights City) โดยมีนิสิตและนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 27 คน ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และเครื่องมือในการแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในสถาบันการศึกษาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมุ่งให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาในชุมชนในพื้นที่ภูมิภาค โดยการกระตุ้นให้เกิดการใช้มุมมองสิทธิมนุษยชนในการแก้ปัญหา การพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม การเก็บข้อมูล การทำงานร่วมกับชุมชนและเครือข่ายเพื่อสร้างนวัตกรรม เครื่องมือ ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม สามารถทำได้จริง และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน อันจะเป็นการสร้างเสริมให้เกิดเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ภูมิภาค ซึ่งสนใจและใส่ใจในประเด็นสิทธิมนุษยชน ตระหนักถึงความรับผิดชอบ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ชุมชนและสังคมรอบตัว

          การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เริ่มต้นจากกระบวนการเตรียมความพร้อมด้านความรู้และเครื่องมือให้กับเยาวชนโดยการจัดอบรมออนไลน์ ให้แก่ผู้เข้าร่วม จำนวน 3 ครั้ง ในหัวข้อ หลักการสิทธิมนุษยชนเบื้องต้น หัวข้อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และหัวข้อ กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหา (Design Thinking) จากนั้นมีการจัดแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับโจทย์ที่เป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ได้แก่ 1) ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการประกอบธุรกิจของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น 2) การเข้าถึงสิทธิของคนไร้บ้านที่เป็นกลุ่มเปราะบางของเครือข่ายบ้านโดยเครือข่ายบ้านโฮมแสนสุข จังหวัดขอนแก่น 3) การเข้าถึงที่อยู่อาศัย การศึกษา และบริการสาธารณะในพื้นที่ชุมชนริมรางรถไฟจังหวัดขอนแก่น และ 4) สถานะบุคคลและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในพื้นที่ชุมชนริมคลองชลประทาน จังหวัดขอนแก่น โดยได้มีการลงพื้นที่จริงเพื่อเก็บข้อมูลและรับทราบสถานการณ์จากผู้ที่ประสบปัญหาและชุมชนโดยตรง เพื่อนำมาสรุปข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาในเชิงระบบ ระบุปัญหาที่ต้องการแก้ไขและกลุ่มเป้าหมาย และการร่างแนวคิดในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในแต่ละประเด็น โดยใช้วิธีการระดมความคิดเห็นผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหา (Design Thinking) จากนั้นจะทดสอบแนวคิดในการแก้ปัญหาด้วยการลงพื้นที่อีกครั้งหนึ่งเพื่อนำเสนอร่างแนวคิดต่อผู้ที่ประสบปัญหาและชุมชน ซึ่งจะช่วยสะท้อนความเห็นและความต้องการที่แท้จริงอีกครั้ง และในขั้นตอนสุดท้าย ผู้เข้าร่วมจะต้องทำการประมวล ออกแบบและพัฒนาแนวคิด เพื่อสร้างผลผลิตที่เป็นนวัตกรรมในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนของชุมชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นให้เกิดผลสำเร็จขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในการนี้นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายชนินทร์  เกตปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ Ms. Vanessa Steinmetz Head of Thailand and Myanmar Office FNF นางสาววลัยลักษณ์  ชมโนนสูง เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายอาวุโส สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ Thai PBS และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ร่วมให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำอันเป็นประโยชน์สำหรับนำไปใช้แก้ไขปัญหาประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่มได้รับมอบหมายตามความสนใจของตนด้วย

          อนึ่ง นวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละกลุ่มได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาในครั้งนี้ จะถูกนำไปประยุกต์ใช้จริงเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนและชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จากนั้นจะมีการประมวลความสำเร็จและประเมินผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหา และนำผลงานไปเสนอในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จและความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน