สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมกิจกรรม Thailand talks 2024

21/11/2567 4

.

                          เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เข้าร่วมกิจกรรม Thailand talks 2024 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ภาคีเครือข่ายสื่อมวลชน และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยเป็นกิจกรรมเพื่อมุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้และเสริมทักษะการรับฟังเพื่อการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่าง โดยเปิดพื้นที่สำหรับให้ผู้คนที่คิดเห็นไม่เหมือนกัน มีมุมมองต่างกัน ได้มาพบปะพูดคุย โดยไม่ได้มุ่งหวังการเปลี่ยนความคิดแต่มุ่งขยายพื้นที่การรับฟังกันและสร้างเข้าใจกันให้มากขึ้น เน้นการพูดคุยแบบกลุ่มเพื่อให้ได้รู้จักกับผู้คนและประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประกอบไปด้วย คณะครู อาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี รวมไปถึงหน่วยงานด้านการศึกษาและกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดอุดรธานี กว่า 130 คน  ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าวประกอบด้วย 2 ช่วงดังนี้

.

                          1. กิจกรรมบอร์ดเกม Talk to Transform มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลองเสนอประเด็นที่ในสังคมหรือในชีวิตประจำวันซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับมิติสิทธิมนุษยชนที่อยากพูดคุยกับคนเห็นต่าง โดยมีการใช้ทักษะและเครื่องมือสำหรับการพูดคุยและรับฟังกันเพื่อนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือการมีแนวทางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับอย่างมีเหตุผลร่วมกัน 

                          2. การนำทักษะการพูดคุยและรับฟังมาจับกลุ่มพูดคุยสนทนากันในหัวข้อประเด็นคำถามที่ประเด็นร้อนแรงในมิติสังคม การศึกษา การเมืองและเศรษฐกิจ ที่สอดคล้องกลับบริบทพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหามุมมองการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่าง

                          ในกิจกรรม Thailand talks 2024 เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมนำเสนอและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับบทบาทและภารกิจของสำนักงาน ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆ รวมไปถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนกับการอยู่ร่วมกันโดยการเคารพในความแตกต่าง ตลอดจนได้ร่วมนำกระบวนการพูดคุยทั้งในกิจกรรมบอร์ดเกม Talk to Transform และกิจกรรมพูดคุยสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่าง อันเป็นทักษะพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนสำคัญในการยอมรับความแตกต่างหลากหลายหลาย (diversity) การเปิดพื้นที่เพื่อรับฟัง เข้าใจ และเห็นใจผู้อื่น (empathy) การเคารพ (respect) และยึดมั่นความเสมอภาคเท่าเทียม (equality) เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการนำเครื่องมือและทักษะไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและเกิดการพัฒนาแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนแก่เยาวชนในพื้นที่ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน