สำนักงาน กสม. จัดอบรมการบันทึกหลักฐานทางการแพทย์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนและพัฒนาทักษะในการจดบันทึกข้อมูลของบุคคลที่ถูกกระทำทรมานให้แก่บุคลากรทางการแพทย์

02/09/2565 115

                         เมื่อวันที่ 25 - 26 สิงหาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การบันทึกหลักฐานทางการแพทย์ กรณีการทรมาน สำหรับแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ณ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และผ่านระบบออนไลน์
                         โครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ พยาบาลจิตเวช และนักจิตวิทยาคลินิกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการอบรมให้ความรู้เรื่องหลักสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการกระทำทรมาน การตรวจร่างกาย และการตรวจสภาพจิตใจ โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยากรของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ในการนี้ นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “หลักการพื้นฐานสิทธิมนุษยชนที่จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์” ด้วย
                         ต่อมาเมื่อวันที่ 30 – 31 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มอบหมายให้ นายบุญเกื้อ สมนึก ที่ปรึกษาประจำ กสม. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาทักษะการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ โดยมีนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “บทบาทและความสำคัญของกระบวนการนิติจิตเวชกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” ด้วย
                         ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการต่อต้านการกระทำทรมาน ซึ่ง กสม. เล็งเห็นความสำคัญของการนำกระบวนการทางการแพทย์มาเป็นเครื่องมือและและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการกระทำทรมาน รวมทั้งพัฒนารูปแบบการให้ความเห็นที่สองทางการแพทย์ (Second Opinion in Medicine) ในขั้นตอนการตรวจร่างกายบุคคลที่ถูกควบคุมตัว เพื่อมุ่งทำความจริงให้ปรากฏอันเป็นการคุ้มครองและเยียวยาผู้เสียหายและสร้างความโปร่งใสให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

เลื่อนขึ้นด้านบน