สำนักงาน กสม. ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

19/10/2565 54

                         วันที่ 19 ตุลาคม 2565 เวลา 13.30 น. มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) กับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ประเทศไทยโดยมีนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ Mr. Renaud Meyer ผู้แทน UNDP ประเทศไทย เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องเสวนา ชั้น 6 สำนักงาน กสม.
                         นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวแสดงความยินดีสรุปว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ UNDP ประเทศไทย ได้ร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน กระทั่งประเทศไทยมีการบังคับใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่ประกาศใช้แผนดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้หน่วยงานภาคธุรกิจ รัฐวิสาหกิจ และภาครัฐนำไปปฏิบัติในการส่งเสริม คุ้มครอง เยียวยา และแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลจากการดำเนินธุรกิจ
                         “การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสม. และ UNDP ประเทศไทยในครั้งนี้ ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างองค์กรให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยจะขยายแผนงานในประเด็นสิทธิและกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเปราะบางอย่างกว้างขวางมากขึ้น เช่น นักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มชาติพันธุ์และสถานะบุคคล กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และกลุ่มคนพิการ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการขจัดการเลือกปฏิบัติ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมอย่างเป็นระบบ รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันเพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงานระหว่างผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายและกัลยาณมิตรด้านสิทธิมนุษยชนในระดับประเทศและระดับภูมิภาคของทั้งสององค์กร” ประธาน กสม. กล่าว
ทั้งนี้ การจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี โดยมีกรอบและแนวทางของความร่วมมือ สรุปได้ดังนี้
1. การสร้างความตระหนักรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศไทยเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
2. การพัฒนาศักยภาพสถาบันและการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสม. และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในประเทศไทย ด้วยมาตรฐานสากลในการปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเปราะบาง
3. การส่งเสริมการทำงานระหว่างสำนักงาน กสม. และ UNDP กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่น ๆ ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


19 ตุลาคม 2565

เลื่อนขึ้นด้านบน