กสม.ร่วมกับ 6 องค์กรจัดการเสวนา เสวนาหาทางออก ‘สิทธิมนุษยชน – วิกฤติโควิด–19 : สิทธิ หน้าที่ บทบาทของรัฐบาล รัฐสภา องค์กรอิสระ สื่อ และราษฎร’

27/08/2564 29

          เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการเสวนาหาทางออก ‘สิทธิมนุษยชน – วิกฤติโควิด–19 : สิทธิ หน้าที่ บทบาทของรัฐบาล รัฐสภา องค์กรอิสระ สื่อ และราษฎร’ จัดโดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลายหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร อนุกรรมการด้านเครือข่ายและการมีส่วนร่วม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) สถาบันปรีดี พนมยงค์ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า และ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ โดยมีนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ผ่าน Application Zoom และ FACEBOOK FANPAGE ‘Gender Equality by GDRI’  ‘Gender Talk’ และ ‘สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ’
          ประธาน กสม. กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนหลากหลาย ทั้งกรณีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุขของผู้ติดเชื้อ ทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไปและผู้ต้องขัง เช่น การไม่ได้รับการส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาล จำนวนเตียงผู้ป่วยที่มีจำกัด ไม่มีการแยกกักโรคในกลุ่มผู้ต้องขังและผู้ต้องขังไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานอย่างเพียงพอ ปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานอันเป็นการจำกัดสิทธิอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่น การห้ามพนักงานไปในสถานที่อื่นนอกจากที่พัก การห้ามสั่งอาหารรับประทานนอกเหนือจากที่นายจ้างจัดไว้ให้ หรือกรณีปัญหาที่ประชาชนไม่ได้รับการเยียวยาผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากรัฐ นอกจากนี้ กสม. ยังได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการจัดทำรายงานข้อเสนอแนะกรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ เสนอไปยังรัฐบาลโดย กสม. ชุดที่สาม เมื่อเดือนมีนาคม 2564
          นายวสันต์ กล่าวในหัวข้อ ‘อำนาจ หน้าที่ และบทบาทของง กสม. ในสถานการณ์วิกฤติ COVID – 19’ โดยกล่าวถึงการดำเนินการของ กสม.ว่า ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณา พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ดูแลประชาชนด้วยความเป็นธรรมและทั่วถึง และขอให้ดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ นอกจากนี้ได้เดินทางไปพบอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อแสดงความห่วงใยผู้ต้องขัง ซึ่งได้รับความร่วมมือและหามาตรการดูแล  การประสานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การลงพื้นที่ไปดูแคมป์คนงานช่วงที่เกิดการระบาด การออกแถลงการณ์ห่วงใย และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงวัคซีน การได้รับบริการที่เข้าถึงและเป็นธรรม เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น

เลื่อนขึ้นด้านบน