กสม. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.ป. กสม. พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (4) ที่มีผลกระทบต่อความเป็นอิสระตามหลักการปารีส

03/09/2564 606

          วันที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 09.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดการประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการแก้ไขมาตรา 26 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ร่วมกับองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและสภาวิชาชีพที่ได้รับการจดแจ้งกับสำนักงาน กสม. 48 แห่ง องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ภาควิชาการ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom meeting) โดยมีนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวต้อนรับ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการประชุมรับฟังความคิดเห็น ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี นางปรีดา คงแป้น นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยที่ปรึกษา กสม. และผู้บริหารสำนักงาน กสม. เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย
          การประชุมดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อปลายปี 2563 กสม. เข้ารับการประเมินสถานะเพื่อขอปรับสถานะจากสถานะ B เป็น A จากคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation) หรือ SCA ภายใต้เครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI) โดย SCA มีมติให้เลื่อนการพิจารณาประเมินสถานะของ กสม. ออกไปอีก 18 เดือน เนื่องจากมีประเด็นข้อห่วงกังวลที่สำคัญประการหนึ่งในเรื่องความเป็นอิสระของ กสม. ตามหลักการปารีส หรือ หลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันแห่งชาติ (Principles relating to the status of national institutions)  จากบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของ กสม. ตามมาตรา 26 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ให้ กสม. ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าใน กรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่ง SCA ระบุว่าบทบัญญัติดังกล่าวอาจลดทอนความเป็นอิสระที่แท้จริงหรือที่สาธารณะรับรู้ (actual or perceived independence) นอกจากนี้ ไม่เคยปรากฏว่ามีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะดังกล่าว จึงเสนอให้ กสม. สนับสนุนให้มีการยกเลิกบทบัญญัตินี้
          โดย กสม. ได้ดำเนินการผลักดันให้มีการยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจดังกล่าวโดยการสร้างความเข้าใจร่วมกันกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร รวมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564
          ในการนี้ เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 26 (4) พ.ร.ป. กสม. พ.ศ. 2560 และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นไปโดยรอบด้าน จึงได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ขึ้น โดยที่ประชุมมีมติเห็นพ้องต้องกันว่า กสม. ควรสนับสนุนให้มีการแก้ไขยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวซึ่ง กสม. จะรวบรวมข้อมูลความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้ นำไปเป็นข้อมูลในการแก้ไขกฎหมายขององค์กรในส่วนที่มีผลกระทบต่อความเป็นอิสระ ทั้งนี้เพื่อให้กสม. ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในบทบาทการทำหน้าที่ที่เป็นอิสระ ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับสถานะของ กสม. ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน