กสม. ร่วมเวทีสะท้อนปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กับภาคประชาสังคมพื้นที่ภาคเหนือ

20/10/2564 21

          เมื่อวันที่ 18 – 19 ตุลาคม 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมการสัมมนาและร่วมเป็นวิทยากรในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “บทบาทองค์การภาคประชาสังคมกับการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล”  จัดโดย มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ณ  สวนพฤษศาสตร์ทวีชล ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนสถานการณ์ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ในประเทศไทยซึ่งมีอยู่จำนวนมาก
          การสัมมนาดังกล่าวเป็นการถอดบทเรียนการทำงานของเครือข่ายต่าง ๆ ในการทำงานทั้งการช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่มีสถานะบุคคลในสถานศึกษาให้ได้รับการลงทะเบียนเพื่อกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนเพื่อเข้ารับการศึกษา สำหรับผู้ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร (นักเรียนรหัส G) ซึ่งจากการสำรวจมีถึง 100,000 คน กรณีพระและเณรที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ลูกหลานแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนมาบวชเรียน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเข้ารักษาพยาบาล กรณีการถอนทะเบียนราษฎรของประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวและการขึ้นทะเบียนผู้ติดตามแรงงาน  กรณีปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติตามแนวชายแดน การดำเนินงานของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การใช้สิทธิทางศาล ปกครองในการแก้ไขปัญหา ความยากลำบากของผู้ทรงสิทธิในการติดตามเรื่องเพื่อให้มีการพิจารณาสถานะ ความกดดันจากชุมชนที่อาศัยอยู่ และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อติดขัด อุปสรรคในการทำงานทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคประชาสังคม  นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอความก้าวหน้าของการเสนอ ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ....  เป็นต้น
          นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แสดงความยินดีที่ได้เข้าร่วมในการสัมมนาในครั้งนี้ และพบเครือข่ายต่าง ๆ ที่ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสถานะและสิทธิของบุคคล
          ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และได้กล่าวถึงบทบาทการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ และการจัดทำแผนงานที่จะสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายและภาคประชาสังคมต่อไป
          ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวถึงบทบาทของ กสม. ในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีที่ปัญหามีความซับซ้อน การประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเรื่องที่ต้องมีการประสานขอความช่วยเหลือเร่งด่วน การแต่งตั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นคณะทำงานด้านการกลั่นกรองเรื่องร้องเรียน เพื่อเป็นหลักประกันได้ว่า ความเดือดร้อนของประชาชนจะได้รับการพิจารณาทุกเรื่อง และจะมีการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม หรือบุคคลในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อกรณี นอกจากนี้ ยังได้แสดงความชื่นชมการทำงานของเครือข่ายที่ช่วยเหลือคลี่คลายปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และจะได้นำประเด็นสถานการณ์ด้านสถานะและสิทธิของบุคคลกำหนดเป็นประเด็นสำคัญที่ กสม. จะนำมาพิจารณาในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป
ขณะที่ผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ได้สะท้อนความคิดเห็นในเวทีว่า หากมีการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลในพื้นที่เชียงใหม่ได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาสถานะบุคคลในประเทศได้อย่างน้อยร้อยละ 40 และเรื่องสถานะและสิทธิของบุคคลเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องได้รับ
          ทั้งนี้ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “บทบาทองค์การภาคประชาสังคมกับการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล” เป็นความร่วมมือการทำงานขององค์กรต่างๆ ที่ร่วมกันเป็นเครือข่ายต่าง ๆ ที่ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล เช่น มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิกังหันลม กลุ่มละครชุมชนกั๊บไฟ สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย มูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิวัฒนธรรมเสรี เครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์เพื่อการพัฒนา ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน มูลนิธิโพธิยาลัย มูลนิธิพัฒนานานาเผ่าไร้พรมแดน องค์กรแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิพันธกิจลอว์  ซึ่งในเวทีเดียวกันนี้ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการทำงานด้านสถานะและสิทธิของบุคคล โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมลงนามเป็นพยาน และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามดังกล่าวด้วย

เลื่อนขึ้นด้านบน