กสม.ร่วมงานรำลึก 14 ตุลาคม ประจำปี 2564

14/10/2564 21

          วันที่ 14 ตุลาคม 2564 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยตัวแทนเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมวางพวงมาลา และกล่าวสดุดีวีรชนคนเดือนตุลา ทั้งนี้นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวคำสดุดีแก่วีรชนคนเดือนตุลา โดยมีรายละเอียดคือ
          รู้สึกยินดีและขอขอบคุณมูลนิธิ 14 ตุลา ที่ให้เกียรติเชิญคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาวางพวงมาลาและกล่าวคำรำลึกในงานรำลึก 14 ตุลาคม ประจำปี 2564 แม้เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะผ่านมานานถึง 48 ปี แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครในสังคมไทยลืมเลือน เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชนไทย โดยมีนักเรียน นิสิต นักศึกษาเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว ต่อสู้ เสียสละอย่างวีระอาจหาญ วีรชน 14 ตุลา มีทั้งผู้ที่จากไปและผู้ที่ยังมีลมหายใจและต่อสู้ต่อเนื่องนับจากนั้น
          ผลพวงจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้อย่างน้อยครั้งหนึ่งสังคมไทยได้เข้าสู่ยุคที่ถือกันว่า “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” มีการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ในหมู่นักเรียน นิสิต นักศึกษาเท่านั้น แต่ยังขยายวงไปยังกรรมกร ผู้ใช้แรงงาน และเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ซึ่งก่อนหน้านั้นไร้ซึ่งสิทธิ์และเสียง
          อาจกล่าวได้ว่าก้าวสำคัญของการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตยของผู้คนในสังคมไทย เริ่มจาก เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แม้ว่าเวลาของความเบ่งบานจะไม่นานนักก็ตาม แต่จิตสำนึกในสิทธิได้ถูกกระตุ้น ขึ้นและยังคงอยู่สืบทอดกันต่อ ๆ มา แม้ประชาธิปไตยไทยจะยังไปไม่ถึงไหนก็ตาม
          กระผมเป็นคนหนึ่งครับที่เป็นผลพวงของ 14 ตุลา เริ่มตื่นรู้ หันมาสนใจเรื่องบ้านเมืองตั้งแต่ยังเรียนมัธยม เริ่มที่จะรู้จักเรื่องสิทธิและเสรีภาพ และความเป็นธรรมในสังคม เริ่มอยากที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม เริ่มอย่างไม่เป็นระบบ กระทั่งเป็นระบบขึ้นตามวัยและประสบการณ์ จนตกผลึกว่า สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานเป็นของพวกเราทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร สมัยนั้นคำว่า “สิทธิมนุษยชน” ยังไม่แพร่หลายและเป็นสากลอย่างทุกวันนี้ สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย มีองค์ประกอที่ซับซ้อน ความต้องการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยดีขึ้น ที่จริงก็ไม่ได้เริ่มต้นที่ 14 ตุลา เริ่มมาก่อนหน้านั้น และมาถึงวันนี้ความต้องการที่ว่านั้นก็ยังดำรงอยู่ วิธีการอาจเปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย แต่หัวใจที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้นยังคงอยู่เสมอ ตราบใดที่สังคมยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม
          สิ่งนี้ที่เราต้องร่วมมือกัน ทบทวน สรุปบทเรียน และเร่งสร้างสิ่งที่มีคุณค่าทั้งต่อตนเอง สังคม และ ประเทศชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในฐานะที่ผมทำหน้าที่ในองค์กรหลักด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ ผมเชื่อในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของคนในสังคม เรื่องการเคารพสิทธิ คิดว่าบางครั้งต้องเริ่มจากตัวเรา ถ้าเราต้องการให้ผู้อื่นเคารพสิทธิของเรา เราก็ต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น เราอยากให้คนเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเรา เราเองก็ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วยเช่นกัน
          เมื่อใดที่สังคมมีวัฒนธรรมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยจะเบ่งบานในสังคมนั้น แต่เมื่อใดที่สังคมเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยก็จะถูกลดทอนคุณค่าลง ผมมองว่าหลักสิทธิมนุษยชนจะเบ่งบานและฝังรากในสังคมใดได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงเพราะบรรจุไว้ในกฎหมายสูงสุดอย่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่หลักสิทธิมนุษยชนจะต้องอยู่ในใจของทุกคน งอกงาม เบิกบานอยู่ในมโนสำนึกของพวกเราทุกคน
          กระผมในนามของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอขอบคุณมูลนิธิ 14 ตุลา ในการสานต่ออุดมการณ์ ประชาธิปไตยและธำรงไว้ซึ่งเจตจำนงอันบริสุทธิ์ของเหล่าวีรชน ถึงแม้ว่าปัจจุบันเราต่างต้องผจญกับความท้าทายในหลากหลายรูปแบบ แต่ผมมั่นใจว่า เราจะร่วมมือกันในการสานต่อและถักทอให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง

เลื่อนขึ้นด้านบน