กสม.ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเสวนา วิกฤตการณ์โควิด - 19 “สานพลัง & ร่วมใจ” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (LGBTIQNs+) ? : มาตรการรัฐกับการส่งเสริมความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในช่วงวิกฤติโควิด -19 เนื่องในวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ

30/11/2564 20

          เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย จัดการเสวนา เนื่องในวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ ในหัวข้อ วิกฤตการณ์โควิด - 19 “สานพลัง & ร่วมใจ” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (LGBTIQNs+) ? : มาตรการรัฐกับการส่งเสริมความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในช่วงวิกฤติโควิด - 19
          นางรัตติกุล จันทร์สุริยา  ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะได้รับมอบจากประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการเป็นองค์กรอิสระระดับชาติ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่และอำนาจสำคัญ ในการตรวจสอบและรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ และเสนอแนะมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกัน ส่งเสริม คุ้มครอง และแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ กสม. ยังให้ความสำคัญ ในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และพร้อมสนับสนุน กระบวนการความร่วมมือขององค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งในและระหว่างประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น  เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งได้มีการประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง
          นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความยากลำบากของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในสถานการณ์วิกฤติโควิด – 19 จากข้อจำกัดของกฎหมาย กฎ และระเบียบต่าง ๆ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติ โดยคาดหวังว่า การจัดงานเสวนาจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมอง และระดมสมอง ของทุกภาคส่วน ต่อปัญหาการละเมิดสิทธิ ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในช่วงวิกฤติโควิด – 19 จะเป็นเวทีสื่อสารให้สังคมมีความรู้ความเข้าใจ ในการลดปัญหาการเลือกปฏิบัติ ในมิติต่าง ๆ ต่อประชากรความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ทั้งในช่วงวิกฤติโควิด - 19 และในสถานการณ์ปกติ ดังที่ได้กำหนดเป็นมาตรการในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย หรือ NAP และในแผนยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ริเริ่มจัดทำโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
          การจัดการเสวนา เนื่องในวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ ในหัวข้อ วิกฤตการณ์โควิด - 19 “สานพลัง & ร่วมใจ” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (LGBTIQNs+) ? : มาตรการรัฐกับการส่งเสริมความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในช่วงวิกฤติโควิด -19 เป็นความร่วมมือและสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ในสถานการณ์โควิด – 19 ทั้งภาคธุรกิจเอกชน นักวิชาการ กลุ่ม/องค์กรของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
          วิทยากรได้สะท้อน ความยากลำบากของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในการใช้ชีวิตประจำวันด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจ การไร้งาน การไม่มีแหล่งรายได้ ถูกปฏิเสธจากครอบครัว และขาดโอกาสในการเข้าถึงงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มคนปกติทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความเท่าเทียม การดูแลจากนายจ้าง จนนำไปสู่ความล้มเหลวในการจัดการชีวิตในสถานการณ์โควิด – 19 นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์การละเลย การเพิกเฉยการมีตัวตน การไม่รับฟังและตอบสนองต่อความต้องการในประเด็นที่เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งจากนโยบายสาธารณะ และภาคเอกชน ทำให้สภาพความไม่เท่าเทียมชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น การไร้พื้นที่ทางสาธารณสุขในการเข้าสู่กระบวนการรักษาโควิด – 19 เนื่องจากมีการวางโครงสร้างไว้ในมิติหญิงชายเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบเรื่องสาธารณูปโภคกระบวนการยุติธรรม การโดนเลือกปฏิบัติในโครงสร้างการบริการต่าง ๆ การไร้โอกาสในการติดต่อบุคคล หรือเครือข่ายในช่วงล็อกดาวน์ ต่างส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย
          มีข้อเสนอแนะในการทำงานแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อกลุ้มผู้มีความหลากหลายทางเพศในมิติต่าง ๆ ดังนี้
          1. การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น รัฐจำเป็นต้องเข้าใจถึงความต้องการเบื้องต้น และจัดหาทรัพยากรในกรณีที่กลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงสาธารณูปโภค ที่สำคัญ คือ รัฐต้องเข้าใจถึงความต้องการที่แตกต่างสำหรับกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ และสามารถสร้างองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเพื่อนำไปสู่มาตรฐานทางสาธารณสุข เช่น คำแนะนำด้านวัคซีนสำหรับผู้รับฮอร์โมน หรือผู้รับยาต้านไวรัส การจัดระบบที่พักในสถานพยาบาลที่เข้าใจความแตกต่างและความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงการสร้างโอกาสในการเข้าถึงงาน และทรัพยากรพื้นฐาน เพื่อคนทุกกลุ่ม
          2. ภาคธุรกิจสามารถพัฒนาแนวทางร่วมกับภาครัฐในการแก้ปัญหาระยะสั้นได้ เช่น การสร้างโอกาสในการเข้าถึงงาน ทักษะ หรือโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การเข้าถึงยารักษาโรคชั่วคราวในกรณีที่ภาคธุรกิจสามารถมีส่วนร่วมได้ นอกจากนี้ การทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางที่จะให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดซ้ำซ้อนกับประชากรทุกกลุ่ม รวมไปถึงกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจนั้น จะช่วยให้เกิดการนำฐานแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปใช้ในกลยุทธองค์กรอย่างเป็นระบบต่อไป
          3. การแก้ไขปัญหาในระยะยาว มีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องนำแนวคิดจัดการแบบ Top – Down Design มาใช้เพื่อความเข้มแข็งในระยะยาวของสังคม การสร้างความเข้าใจ รวมถึงการพัฒนากฎหมายต่าง ๆ ให้มีการตระหนักถึงตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย
          4. การพัฒนาให้กระทรวงที่ดูแลงานภาคสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ มีการทำงานร่วมกัน และมีการจัดทำสำมะโนประชากรระดับชาติ (National Census) ที่สามารถสร้างข้อมูลประชากรที่รวมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และความต้องการในทุกมิติ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนอย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันผลกระทบจากโรคระบาด หรือเหตุการณ์อันมิอาจคาดการณ์ได้ในอนาคต นอกจากนี้ ความเข้าใจและความรู้เชิงประชากรศาสตร์ของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะทำให้การวางนโยบายสาธารณะในภาพรวมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการยอมรับในระดับสากลได้มากยิ่งขึ้น

เลื่อนขึ้นด้านบน