กสม. ศยามล ร่วมเวทีอภิปรายสาธารณะเนื่องในวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนสากล

11/12/2564 19

          วันที่ 10 ธันวาคม 2564 นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรอภิปรายเรื่อง “วิกฤตรัฐธรรมนูญ ในวันรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ในเวทีอภิปรายสาธารณะเนื่องในวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนสากล จัดโดย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กลุ่มภราดรภาพและสถาบันสังคมประชาธิปไตย ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์
          นางสาวศยามล กล่าวในการอภิปรายว่า  วันที่ 10 ธันวาคม 2564 เป็นวันรัฐธรรมนูญและเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนั้นต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 25 มีข้อความสำคัญที่เพิ่มเติม เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตราดังกล่าวได้กำหนดข้อยกเว้นในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ถ้าหากการใช้สิทธิเสรีภาพกระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในขณะที่กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และกฎระเบียบ ได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ดุลพินิจในการเลือกปฏิบัติ โดยอ้างถึงความมั่นคงของรัฐ ซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่รับรองความเสมอภาคของบุคคลทุกเพศวัยและกลุ่มเปราะบาง ในกรณีสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศ สิทธิแรงงาน สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้รับรองสิทธิชุมชนอย่างแท้จริง  และสิทธิในการชุมนุมที่แสดงความคิดเห็นในการปกป้องแผ่นดินเกิดของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กลุ่มแรงงานที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ  และการชุมนุมในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสงบและปราศจากอาวุธ  ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับใช้กฎหมายจับกุมควบคุมตัวไปดำเนินคดี โดยแจ้งข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎหมายจราจร รวมถึงการเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในการตรวจดีเอ็นเอ เพราะอยู่ในการบังคับใช้ของกฎหมายความมั่นคง  จากกรณีดังกล่าวจึงเป็นประเด็นสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการออกกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ

เลื่อนขึ้นด้านบน