กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 2/2564

30/09/2564 22

วันที่ 30 กันยายน 2564 เวลา 14.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการ
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 2/2564 โดยสรุปได้ดังนี้
            1. กสม.เดินหน้าเพื่อยกระดับสถานะจาก B เป็น A เพื่อให้ทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพขึ้น
                ตามที่ กสม.ซึ่งเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยถูกลดสถานะจาก A ลงมาเป็น B และ กสม.ชุดที่ผ่านมา (ชุดที่ 3) ได้ดำเนินการหลายประการเพื่อให้ กสม.กลับมามีสถานะ A ดังเดิม กสม.ชุดที่ 4 ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งในปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ กสม.ได้รับการปรับสถานะกลับมาเป็น A ซึ่งจะมีผลให้ กสม.สามารถแสดงบทบาทในเวทีสากลได้มากขึ้น ทำหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย กสม.ได้เตรียมแจ้งข้อมูลความก้าวหน้าในการดำเนินงานนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ไปยังคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub- Committee on Accreditation) หรือ SCA ในเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายในต้นสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะการแก้ไขข้อห่วงกังวลของ SCA ในประเด็นต่าง ๆ
                ประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่ SCA กังวล คือ เรื่องความเป็นอิสระของ กสม. อันเนื่องมาจากบทบัญญัติมาตรา 247 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และมาตรา 26 (4) ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ กสม.ต้องชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใดในโลกที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติในลักษณะดังกล่าว โดยในประเด็นนี้ กสม. ได้มีมติให้ดำเนินการขอแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 โดยได้ประสานความร่วมมือไปยังฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติด้วยแล้ว เช่นเดียวกับประเด็นอำนาจหน้าที่กึ่งตุลาการในการไกล่เกลี่ยของ กสม. ซึ่งเห็นควรให้มี เพื่อให้ กสม.สามารถแสวงหาข้อยุติของข้อพิพาทโดยสมานฉันท์ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยได้อย่างรวดเร็ว
            2. สรรหาเลขาธิการ กสม.คนใหม่ แสดงวิสัยทัศน์อย่างโปร่งใส ให้สื่อและคนนอกร่วมรับฟังได้
                ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เลขาธิการ กสม.) แทนเลขาธิการ กสม. คนปัจจุบันที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2564 – 6 กันยายน 2564 นั้น วันนี้ (30 กันยายน 2564) เวลา 10.00 น. ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสม. จำนวน 2 ราย ได้แก่ (1) นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ (รองปลัดกระทรวงยุติธรรม) และ (2) นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข) ได้เข้าแสดงวิสัยทัศน์และตอบข้อซักถามต่อคณะกรรมการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (นักบริหารสูง) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เจ้าหน้าที่สำนักงานฯ สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไป ณ สำนักงาน กสม. ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย
                ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาถึงความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ ประวัติการรับราชการ ผลสัมฤทธิ์ของงาน คุณลักษณะที่จำเป็นและความเหมาะสมกับตำแหน่งของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาแล้ว จากนั้นจะนำเสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับการสรรหาต่อ กสม.ในการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะองค์กรกลางบริหารงาน บุคคล (ก.ส.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป       
            3. ผลการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงาน กรณีนักศึกษามุสลิมร้องเรียนถูกห้ามไว้เครา สถานศึกษาปรับแก้ระเบียบตามข้อเสนอแนะของ กสม.แล้ว
                กรณีนี้ สืบเนื่องจาก กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ขอให้ตรวจสอบกรณีกล่าวอ้างว่า เมื่อปี 2558 ขณะที่ผู้ร้องซึ่งนับถือศาสนาอิสลามกำลังศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 4 ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสงขลา ถูกสั่งห้ามไว้เครา เนื่องจากมีการออกข้อกำหนดห้ามนักศึกษาแพทย์ชายไว้หนวดและเครา และกำหนดให้นักศึกษาแพทย์ทุกคนต้องเข้าร่วมพิธีกรรมที่ไม่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามในทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ซึ่งตรงกับช่วงเวลาละหมาด  
                กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า การไว้เคราแม้จะไม่ใช่ข้อบังคับหลักของศาสนาอิสลาม แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาซึ่งย่อมเป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 การที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกนำระเบียบดังกล่าวมาบังคับใช้ จึงถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของผู้ร้อง กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 จึงมีข้อเสนอแนะให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ในฐานะหน่วยงานหลักที่เป็นผู้กำหนดระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ แก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการแต่งกายและบุคลิกภาพของนักศึกษาแพทย์ให้สอดคล้องกับหลักศาสนา
                 ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายน 2564 กสม.ได้รับแจ้งจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า ได้ประชุมแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายและหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานของนักศึกษาแพทย์ระดับชั้นคลินิก พ.ศ. 2561 ข้อ 9 เป็น “นักศึกษาแพทย์ชาย ทรงผมสุภาพ ห้ามทาสีผม ตัดสั้นไม่ปิดหน้า ใบหู และห้ามไว้หนวดและเครา ให้ตัดเล็บสั้น ห้ามทาสีเล็บ หรืออื่นๆ ตามที่สถานปฏิบัติการกำหนด สำหรับการห้ามไว้เครานั้น ให้พิจารณาตามเหตุผลความจำเป็นในการปฏิบัติตามหลักศาสนาของตน แต่ไม่ขัดต่อหลักความปลอดภัยหรือสุขอนามัยของตนเองและผู้อื่น” และได้ประกาศใช้ระเบียบมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายและหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานของนักศึกษาแพทย์ระดับชั้นคลินิก พ.ศ. 2561 (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 เรียบร้อยแล้ว
 

30/09/2564

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน