กสม. นำเสนอรายงานผลการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และผลการปฏิบัติงาน ปี 62 ต่อที่ประชุม สภาฯ ย้ำมุ่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิฯ ในระดับนโยบาย

25/06/2563 58

                เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ที่รัฐสภา นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ นางภิรมย์ ศรีประเสริฐ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ นายอัญญะรัฐ เอ่งฉ้วน รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางหรรษา บุญรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 7 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อเสนอรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2562 และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
                รายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2562 ที่นำเสนอต่อที่ประชุมสภาฯ สรุปได้ว่า ในปีที่ผ่านมา รัฐมีความพยายามหลายประการในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เช่น การปรับปรุง/แก้ไขกฎหมาย การส่งเสริมให้ผู้มีอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิดังกล่าวมากขึ้น อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่ายังมีการดำเนินการบางประการที่มีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้
                1. สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กสม. เห็นว่า รัฐบาลควรปรับปรุงระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต่อประชาชนในการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ควรมีมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินกิจกรรมด้วยสันติวิธีจากการถูกข่มขู่คุกคามหรือทำร้าย ควรเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และควรใช้ความระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมายที่มีบทบัญญัติเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
                2. สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในส่วนสิทธิแรงงาน ปัญหาการค้าระหว่างประเทศส่งผลให้มีการปิดโรงงานหลายแห่งโดยค้างการจ่ายค่าจ้างและเลิกจ้าง ทั้งมีการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในภาคธุรกิจมากขึ้น รัฐบาลจึงควรดูแลให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวได้รับความคุ้มครองครบถ้วนตามกฎหมาย นอกจากนี้ พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานของพนักงานจ้างเหมาบริการในภาครัฐและการปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ สำหรับสถานการณ์ด้านสุขภาพ พบว่าการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นยังมีสัดส่วนค่อนข้างสูง จึงควรเน้นมาตรการเชิงป้องกันมากขึ้น ส่วนปัจจัยที่ยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องด้านสุขภาพ คือ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ซึ่ง กสม.ได้เคยมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรแล้วเมื่อปี 2562 และ ในปี 2563 รัฐบาลได้ห้ามการใช้สารเคมีอันตรายที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะแล้ว
                3. ด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มบุคคลเฉพาะ การดำเนินงานบางด้านเกี่ยวกับสิทธิผู้สูงอายุยังมีข้อจำกัด เช่น การเตรียมความพร้อมของกลุ่มแรงงานนอกระบบซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่อยู่ในระบบสวัสดิการใด และการขาดมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันการทำร้าย การทอดทิ้ง หรือการล่วงละเมิดผู้สูงอายุ เป็นต้น ส่วนคนพิการยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) โดยเฉพาะด้านการศึกษา การมีงานทำ และการเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะ การดำเนินการเรื่องสิทธิสตรีบางด้านยังไม่เห็นผลชัดเจน เช่น การกระทำรุนแรงในครอบครัวซึ่งสถิติผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงยังคงระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ องค์กรภาคประชาสังคมยังมีความกังวลต่อการไกล่เกลี่ยปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่ทำให้สตรีมีความเสี่ยงจะถูกกระทำรุนแรงซ้ำ รวมทั้งการคุ้มครองสตรีที่ถูกแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณี ตลอดจนการสร้างความตระหนักรู้เพื่อลดอคติที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางเพศ ขณะที่ผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิยังคงมีผู้ไร้รัฐที่รอการแก้ไขปัญหาอีกกว่า 400,000 คน
                4. ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในความห่วงใย สถานการณ์ด้านสิทธิชุมชน มีกลุ่มประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาป่าไม้และที่ดิน รวมทั้งให้แสวงหามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดี อีกทั้งยังมีกรณีที่ประชาชนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการประกาศผังเมืองในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม และการประกาศใช้กฎหมายโรงงานฉบับใหม่ที่เปิดให้โรงงานขนาดเล็กตั้งอยู่ในชุมชน สำหรับปัญหาสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ กสม. ยังคงได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัว รวมถึงการตรวจ DNA ประชาชนทั่วไปในบางพื้นที่ โดยเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวควรเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
                ส่วนรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สรุปว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น 551 เรื่อง ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีจำนวน 623 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 11.55 โดยประเด็นที่มีการร้องเรียนมากที่สุดทั้ง 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สำหรับภารกิจด้านส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ กสม. ได้ดำเนินการสร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน อาทิ การจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายและคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาให้กับบุคลากรทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัย - มัธยมศึกษาตอนปลาย นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินงานร่วมกับสถาบันการศึกษาในภูมิภาค ผ่านกลไกศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 6 แห่ง จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและประสานงานให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อมีการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ การดำเนินการร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์/แนวทางการดำเนินงานร่วมกัน เป็นต้น
                อนึ่งในการประชุมดังกล่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สนใจและได้ซักถามถึงกระบวนการทำงานของ กสม. ในประเด็นสำคัญ อาทิ หลักเกณฑ์ในการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนไว้ตรวจสอบ ความรวดเร็วในการตรวจสอบ ความเป็นอิสระและเป็นกลางในการดำเนินงาน เป็นต้น โดยนางประกายรัตน์  ต้นธีรวงศ์ และนางภิรมย์ ศรีประเสริฐ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ชี้แจงและตอบข้อซักถาม สรุปว่า กสม. ชุดปัจจุบันปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 (พรป. กสม. 2560) ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนไว้ตรวจสอบที่มีข้อจำกัดมากขึ้น โดยกำหนดให้ กสม. ไม่อาจรับเรื่องบางลักษณะไว้ตรวจสอบได้ เช่น เรื่องที่มีการฟ้องร้องคดีในศาลหรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว เรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น เรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาแล้ว เป็นต้น อย่างไรก็ดี กสม. ชุดปัจจุบันได้กำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาในการตรวจสอบให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของ พรป.กสม. 2560 ซึ่งระบุให้ กสม. ดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนโดยไม่ล่าช้า ทำให้ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนคงค้างเพียง 72 เรื่อง จากเดิมที่คงค้างมากกว่า 2,000 เรื่อง เมื่อปลายปี 2558 ทั้งนี้ ประการสำคัญแม้เป็นกรณีที่ต้องยุติเรื่องแต่ กสม. ก็ได้มีข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบในหลายกรณี
                “กสม. ได้ดำเนินภารกิจด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายโดยมุ่งแก้ไขปัญหาที่ระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ ผ่านการจัดทำข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญ อาทิ ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) ข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างข้อเสนอแนะในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการระดมความเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อการยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อเด็กนักเรียนโดยครูหรือบุคลากรทางการศึกษา อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงระบบที่มิใช่เพียงการแก้ปัญหารายกรณี ทั้งนี้ กสม. ขอยืนยันในความเป็นกลางและความเป็นอิสระ โดยหวังว่าทั้งประชาชนและรัฐจะได้ใช้ กสม. ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนของชาติไทยเป็นสะพานเชื่อมประสานระหว่างกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งและการสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนร่วมกันต่อไป” นางประกายรัตน์ กล่าว
                ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถอ่านรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2562 และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้ทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ www.nhrc.or.th
 

25/06/2563

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน