กสม. อังคณา นำบุตรนางวรรณนภาผู้ถูกจับกุมกรณีเสื้อยืดต้องห้าม เข้าเยี่ยมมารดาที่ มทบ. ๑๑ เผยกังวลกรณีการบันทึกภาพเด็กไปเผยแพร่โดยไม่ปกปิดใบหน้า เข้าข่ายละเมิดสิทธิฯ

09/09/2561 617

            ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมตัวนางวรรณนภา (ปกปิดนามสกุล) พร้อมเสื้อยืดสีดำที่มีแถบป้ายสีขาวแดงบริเวณหน้าอกจำนวนหนึ่งที่บริเวณห้องพักย่านสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๑ โดยข่าวแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะนำตัวนางวรรณนภาส่งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามในวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๑ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา จึงทำให้บุตรสองคนของนางวรรณนภา ซึ่งมีอายุ ๑๔ ปี และ ๙ ปี ไปรอดักพบมารดาที่กองบังคับการปราบปราม แต่ต้องผิดหวังเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้นำ
นางวรรณนภามาที่กองบังคับการปราบปราม นั้น
            นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตนได้รับแจ้งจากผู้ดูแลเด็กทั้งสองคนว่า เด็กทั้งสองคนมีความเครียด ไม่พูดกับใคร เนื่องจากเด็กทั้งสองไม่ได้พบมารดานับแต่ถูกจับกุม แต่ได้ติดต่อกับมารดาทางโทรศัพท์บ้าง โดยเด็กทั้งสองรู้สึกกังวลว่ามารดาอาจถูกดำเนินคดี หรือไม่ได้กลับบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้มารดายืมโทรศัพท์เพื่อคุยกับบุตรเป็นเวลาสั้น ๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ กสม. ช่วยประสานเจ้าหน้าที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เพื่ออนุญาตให้บุตรทั้งสองคนของนางวรรณนภา ได้เข้าเยี่ยมมารดาตามหลักสิทธิมนุษยชน  กสม. จึงได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ คสช. และเจ้าหน้าที่ยินดีให้ตนในฐานะ กสม. พาบุตรทั้งสองของนางวรรณนภา เข้าเยี่ยมมารดาที่ มณฑลทหารบกที่ ๑๑ (มทบ. ๑๑) ในวันนี้ (๙ กันยายน ๒๕๖๑) เวลา ๙.๐๐ น.
            นางอังคณา กล่าวว่า ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่อำนวยความสะดวกอย่างดีเพื่อให้บุตรของหญิงผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าเยี่ยมมารดาตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยการเยี่ยมครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้จัดสถานที่เยี่ยมในบรรยากาศที่ผ่อนคลายให้มารดาและบุตรได้พบและพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวเพื่อให้คลายความกังวลใจในเรื่องต่าง ๆ โดยหลังจากที่เด็กทั้งสองได้เข้าเยี่ยมมารดาเป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง เด็กทั้งสองมีอาการผ่อนคลาย พูดคุย ยิ้มแย้ม และมีกำลังใจมากขึ้น อย่างไรก็ดี ตนมีความกังวลใจอย่างมากต่อการที่มีผู้บันทึกภาพบุตรทั้งสองคนของนางวรรณนภาในลักษณะที่ถือป้ายข้อความและนำไปเผยแพร่โดยไม่มีการปกปิดใบหน้าเด็ก ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) ขององค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้ การเผยแพร่ภาพใบหน้าเด็กซึ่งมารดาเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาโดยที่ศาลยังมิได้พิพากษาว่ากระทำผิด ยังอาจส่งผลให้เด็กถูกเกลียดชังจากสังคม ทั้งที่เด็กไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
            อนึ่งในการเข้าเยี่ยมวันนี้ เจ้าหน้าที่ มทบ.๑๑ ได้เปิดโอกาสให้ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าตรวจเยี่ยมห้องควบคุมตัวนางวรรณนภา ซึ่งไม่มีลักษณะเป็นห้องกัก แต่เป็นห้องที่ปกติใช้เป็นห้องรับรอง โดยมีเตียงนอน ห้องน้ำส่วนตัว และมีสิ่งอำนวยความสะดวก โดยมีเจ้าหน้าที่หญิงให้การดูแลและคอยพูดคุยเพื่อมิให้ผู้ถูกกล่าวหามีความกังวลใจ
 เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


๙ กันยายน ๒๕๖๑

09/09/2561

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน