กสม. เตือนใจ – กสม. อังคณา แสดงความห่วงใยประชาชนอดอาหารประท้วงคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา – เสนอรัฐบาล ประชุมหารือระหว่างตัวแทนของรัฐบาลกับผู้ชุมนุม

16/02/2561 45

กสม. เตือนใจ – กสม. อังคณา แสดงความห่วงใยประชาชนอดอาหารประท้วงคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา – เสนอรัฐบาล ประชุมหารือระหว่างตัวแทนของรัฐบาลกับผู้ชุมนุม
          สืบเนื่องจากที่มีการชุมนุมเครือข่ายปกป้องสองฝั่งเล กระบี่-เทพา ยุติโครงการถ่านหิน หน้าบริเวณหน้าอาคารที่ทำการองค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ กระทั่งปัจจุบัน โดยปรากฏว่ามีเครือข่ายประชาชนที่อดอาหารเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ถูกนำส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ จำนวน ๗ คน เนื่องจากมีอาการเหนื่อยล้าจากสภาพอากาศที่ร้อนและพักผ่อนไม่เพียงพอ นั้น
          นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะดูแลด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวว่า ตนมีความเชื่อมั่นว่ากลุ่มเครือข่ายปกป้องสองฝั่งเล กระบี่ – เทพา ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพ ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี รวมถึงการจัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม อย่างสมดุลและยั่งยืนของประชาชนแล้ว ตลอดจนเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเป็นห่วงต่อสวัสดิภาพและสุขภาพของประชาชนและการรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าวของรัฐบาล เนื่องจากการใช้วิธีอดอาหาร แม้จะเป็นการดำเนินการอย่างสันติวิธี อาจไม่ใช่วิถีที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน ประกอบกับรัฐบาลได้ให้คำมั่นต่อประชาชนแล้วว่าจะชะลอการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว เพื่อให้เกิดการสร้างความเข้าใจ และร่วมกันหาแนวทางในการยุติปัญหาที่ยั่งยืน จึงขอเสนอให้รัฐบาลและผู้แทนกลุ่มเครือข่ายปกป้องสองฝั่งเล กระบี่ – เทพา ได้มีการประชุมรับฟังข้อมูลที่รอบด้านและรอบคอบต่อไป
          ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อร้องเรียนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในเบื้องต้นมีประเด็นข้อห่วงใยจากนักวิชาการว่า รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ มีความคลาดเคลื่อนทางวิชาการ ซึ่งจะได้มีการรวบรวมความเห็นทางวิชาการและจัดทำเป็นรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
          อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอดอาหารของเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหน่วยแพทย์ดูแลสุขภาพกลุ่มผู้อดอาหาร ดูแลสภาพความเป็นอยู่และอำนวยความสะดวกในการชุมนุม ทั้งนี้ ควรจัดให้มีการประชุมหารือระหว่างตัวแทนของรัฐบาลกับผู้ชุมนุมเพื่อร่วมกันพิจารณาข้อมูลที่ยังมีความแตกต่างกัน รวมถึงการพิจารณาทางเลือกของการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า เช่น การพัฒนาพลังงานทดแทน โดยยึดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและกรอบปฏิญญาว่าด้วยสิทธิการพัฒนาแห่งของสหประชาชาติ ซึ่งรับรองให้ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตน ตลอดจนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายและการได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 


๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

16/02/2561

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน