กสม. เสนอ สตช.แก้ไขระเบียบห้ามเปิดเผยประวัติอาชญากรรมของเด็กและเยาวชน ให้สอดคล้องกติกาสากล

31/10/2560 1413

          เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครอง ได้พิจารณาและมีมติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๓) ส่งข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๓๒ การพิมพ์ลายนิ้วมือ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๗ ข้อ ๔ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล และบทบัญญัติตามกฎหมายของไทย
          นางฉัตรสุดา กล่าวว่า เด็กและเยาวชนทุกคนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกฎอันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารงานยุติธรรมเกี่ยวกับคดีเด็กและเยาวชน หรือกฎแห่งกรุงปักกิ่ง (United Nations Standard Minimum Rules for the Administration of Juvenile or the Beijing Rules) ที่ห้ามมิให้เปิดเผยหรือนำประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชนไปพิจารณาให้เป็นผลร้ายหรือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมไม่ว่าทางใด ๆ ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเอาไว้ อีกทั้งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง ก็มีบทบัญญัติเด็ดขาดในทำนองเดียวกันนี้ไว้
          “เมื่อพิจารณาระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติข้างต้น ที่บัญญัติให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรนำข้อมูลประวัติอาชญากรมาตรวจสอบหรือเพื่อประโยชน์ในการศึกษาได้ แม้ว่าจะให้เจ้าตัวยินยอมก่อนก็ตาม เป็นการให้ดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่ที่กว้างเกินไปในการพิจารณาเปิดเผยประวัติ ซึ่งอาจเป็นผลร้ายหรือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม สังคมจึงอาจมีส่วนผลักดันให้เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่วังวนของการกระทำความผิดซ้ำ เป็นการไม่ให้โอกาสกลับตนเป็นคนดี หรืออาจมีส่วนทำให้เด็กและเยาวชนได้รับตราบาปจากสังคมได้” ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา  ระบุ
          นางฉัตรสุดา กล่าวด้วยว่า ด้วยเหตุผลข้างต้นประกอบกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๓๒/๒๕๔๘ เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งไม่ลบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประวัติอาชญากร กสม. จึงมีข้อเสนอแนะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไขปรับปรุงระเบียบดังกล่าว เพื่อกำหนดการคัดแยกประวัติการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนและบัญชีทะเบียนประวัติของเด็กและเยาวชนไว้ในหมวดหนึ่งหมวดใดโดยเฉพาะ แยกจากกรณีการกระทำความผิดของบุคคลทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกฎแห่งกรุงปักกิ่ง รวมทั้งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง , พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔ และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๒๒
          ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นจะต้องพิจารณาเปิดเผยประวัติการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรกำชับหน่วยงานในสังกัดจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ  และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสิทธิเด็กและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

 

 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐

31/10/2560

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน