“กสม.” ส่งหนังสือให้ ครม. เสนอทบทวนคำสั่ง “หัวหน้า คสช. ที่ ๓๑/๒๕๖๐” เพื่อรักษาเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของเกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.

18/09/2560 57

          เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๐ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามในหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งมติที่ประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครอง เรื่องข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย ตามนัยมาตรา ๒๔๗ (๓) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓๑/๒๕๖๐ เรื่องการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๐
          นายวัส กล่าวว่า สาระสำคัญของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓๑/๒๕๖๐ กำหนดให้สามารถนำที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการอื่น นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรมหรือกิจการที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องได้ โดยเฉพาะข้อ ๘ ระบุให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินฯ ให้พิจารณาอนุญาตให้สำรวจหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การให้ใช้ที่ดินเพื่อดำเนินกิจการด้านพลังงาน และดำเนินกิจการอื่นอันเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศด้วยนั้น
          “ที่ประชุม กสม. เห็นว่าการแก้ไขหรือปรับปรุงพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อรองรับกิจการอื่นที่มิใช่เกษตรกรรม จะทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป กรณีรัฐต้องการใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อจัดทำกิจการอื่นอันเป็นประโยชน์สำคัญของชาติโดยส่วนรวมสามารถออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนที่ดินบริเวณนั้นออกจากการเป็นเขตปฏิรูปที่ดินได้” ประธาน กสม. ระบุ
          นายวัส กล่าวอีกว่า ที่ประชุมจึงมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้เสนอหัวหน้า คสช. ให้พิจารณาทบทวนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓๑/๒๕๖๐ ให้สอดคล้องต่อหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓ วรรคสอง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง และความมุ่งหมายของมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ด้วย
          ประธาน กสม. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีควรกำหนดหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาและคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้านภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนการออกกฎกระทรวง และระเบียบเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวต้องดำเนินการตามมาตรา ๕๗ , ๕๘ และ ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อเป็นหลักประกันว่าสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี จะได้รับการคุ้มครองจากการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้หัวหน้า คสช. ขยายระยะเวลาในการออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓๑/๒๕๖๐ ออกไปก่อน              

                                                                           

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๘ กันยายน ๒๕๖๐

18/09/2560

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน