กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 21/2567 กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้มีการเรียกรับเงินและกระทำชำเราผู้ต้องหา ชี้มีความผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานฯ แนะ ตร. สอบสวนข้อเท็จจริงและเยียวยาผู้เสียหาย - เผยผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีการระบาดของปลาหมอคางดำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประมงชายฝั่งหลายจังหวัด เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข

21/06/2567 195

            วันที่ 21 มิถุนายน 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 21/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้ 

            1. กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีปล่อยให้มีการเรียกรับเงินและกระทำชำเราผู้ต้องหา ชี้มีความผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานฯ แนะ ตร. สอบสวนข้อเท็จจริงและเยียวยาผู้เสียหาย

            นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายอันเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกร้อง) หลายนาย เข้าตรวจค้นและจับกุมผู้เสียหาย 2 ราย ในข้อหาครอบครองยาเสพติดให้โทษ หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านคลอง 5 จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้เสียหายไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็มประมาณ 300,000 บาท เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ยังข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่เป็นผู้หญิงอีกด้วย จึงขอให้ตรวจสอบ 

            กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล โดยเน้นย้ำว่าการทรมาน ทารุณกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 5 บัญญัติว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำย่อมมีความผิดฐานกระทำทรมานซึ่งสอดคล้องตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี 

            กสม. เห็นว่า พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนประจำกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีและสายลับในการเข้าควบคุมตัวผู้เสียหายทั้งสองโดยนำตัวไปขึ้นรถแยกกันคนละคัน พาวนไปตามจุดต่าง ๆ สลับกับไปจอดในที่มืดและมีการต่อรองให้ช่วยขยายผล ก่อนจะนำตัวไปที่ที่ทำการของกองกำกับการสืบสวน เป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นขบวนการ สมรู้ร่วมคิด แบ่งหน้าที่กันทำ ถือว่าเป็นการทำให้บุคคลทั้งสองสูญหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรมชั่วขณะหนึ่ง และการที่ผู้ถูกร้องมีส่วนยินยอมให้บุคคลซึ่งเป็นสายลับนำตัวผู้เสียหายหญิงออกไปจากการควบคุมของเจ้าพนักงานโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำได้ นอกจากจะเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้เสียหายจนเกินสมควรแก่กรณีแล้ว ยังเป็นการกระทำที่เข้าข่ายทำให้บุคคลสูญหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            ประเด็นต่อมา การที่บุคคลซึ่งเป็นสายลับของผู้ถูกร้องนำตัวผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเราและถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ถูกร้อง ต้องรู้เห็นการกระทำดังกล่าวด้วย อันเป็นการกระทำที่ละเมิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้เสียหาย และเป็นการกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องบุคคลซึ่งเป็นสายลับรายนี้ตามข้อหานี้ด้วยแล้ว อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ถูกร้องย่อมต้องมีความผิดฐานกระทำทรมานต่อผู้เสียหายหญิง และในฐานะเป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จากการปล่อยหรือยินยอมให้สายลับรายดังกล่าวกระทำการเช่นนี้ด้วย 

            นอกจากนี้ การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ถูกร้อง ที่ไม่ได้แจ้งการควบคุมตัวต่อพนักงานอัยการและฝ่ายปกครองทันที รวมทั้งไม่ได้บันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับกุมและควบคุมตัวผู้เสียหายจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป และไม่บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว ยังไม่เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 กำหนดไว้ว่าให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัว ประเด็นนี้ จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เสียหายทั้งสองเช่นกัน

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสืบเนื่องจากคำร้องนี้ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดดังกล่าวที่กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามความเหมาะสมทั้งในรูปแบบทรัพย์สิน การฟื้นฟูสภาพจิตใจ และการเข้าถึงความยุติธรรม และให้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 22 และมาตรา 23 ในเรื่องการควบคุมตัว อย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ด้วย

            ทั้งนี้ ให้ส่งรายงานตามคำร้องนี้ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการจากการกระทำที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ถูกร้อง มีส่วนรู้เห็นต่อการบังคับต่อรองเอาเงินจากผู้เสียหาย ซึ่งเข้าข่ายความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ด้วย

 

            2. กสม. เผยผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีการระบาดของปลาหมอคางดำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประมงชายฝั่งหลายจังหวัด เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องและพวก เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ระบุว่า ตามที่เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ สายพันธุ์ปลาจากประเทศกานา ทวีปแอฟริกา ซึ่งเดิมมีการอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำเข้าเพื่อการวิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นครปฐม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาเริ่มกระจายไปยังชุมพรและสงขลา อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ การทำประมงชายฝั่ง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และหน่วยงานภาครัฐยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ผู้ร้องและพวกจึงร้องเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำและให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ กสม. เคยตรวจสอบกรณีที่เกษตรกรได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และมีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ 171/2561 ลงวันที่ 25 เมษายน 2561 แล้ว โดยในห้วงเวลาดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม

            อย่างไรก็ดี เมื่อปรากฏว่า ปัจจุบันยังมีการระบาดของปลาหมอคางดำ และมีผู้ได้รับผลกระทบร้องเรียนให้ตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 สำนักงาน กสม. จึงได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาตามคำร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมบัญชีกลาง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตบางขุนเทียน จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาทนายความจังหวัดสมุทรสงคราม เครือข่ายประมงพื้นบ้านและชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และต่อมามีผลการดำเนินการสรุปได้ดังนี้

          (1) มาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน สำนักงาน กสม. ได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบในพื้นที่ว่ามีการระบาดของปลาหมอคางดำหรือไม่ หากพบการระบาดขอให้พิจารณาจัดประชุมคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เพื่อหารือแนวทางการออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตผ่อนผัน การอนุญาตและระยะเวลาการผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือบางประเภททำการประมงในการกำจัดปลาหมอคางดำ 

            (2) มาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น กรมประมง ได้มีหนังสือถึงกรมบัญชีกลางและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อสอบถามกรณีการนำระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 มาใช้สำหรับการเยียวยาแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

            (3) มาตรการแก้ไขปัญหาระยะกลาง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 สำนักงาน กสม. ได้จัดประชุมร่วมกับกรมประมง และบริษัทเอกชนผู้นำเข้าสายพันธุ์ปลาหมอคางดำ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยทราบว่าในเดือนเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และคณะทำงานแก้ไขปัญหาฯ ระดับจังหวัด รวมทั้งสิ้น 16 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดและยังต้องเฝ้าระวัง ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในระดับพื้นที่ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อสนับสนุน ติดตามและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนและหน่วยงานอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และได้กำหนดกรอบการดำเนินงาน 

            นอกจากนี้ ยังได้รับแจ้งว่ากรมประมงมีนโยบายและมาตรการในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยแล้ว

            กสม. เห็นว่ากรณีดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา มีการกำหนดแผนการปฏิบัติงานและมาตรการการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติต่อไป จึงเป็นการแก้ไขปัญหาแก่ผู้ร้องและพวกอย่างเหมาะสมแล้ว

           ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 จึงมีมติเห็นชอบผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเห็นควรมีหนังสือถึงคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำให้กำกับดูแลคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำระดับจังหวัดให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหา และมอบหมายให้กรมประมงในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ประสานความร่วมมือกับบริษัทเอกชนผู้นำเข้าสายพันธุ์ปลาหมอคางดำ เพื่อจัดประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งติดตามประเด็นมาตรการการเยียวยา โดยให้ประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) กรมบัญชีกลาง และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการพิจารณาหลักเกณฑ์ แนวทาง หรือมาตรการเยียวยา ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบต่อไป

 

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

21 มิถุนายน 2567

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน