กสม. ศยามล ร่วมเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการการเพิ่มศักยภาพการจัดการช้างป่าในท้องถิ่น พื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก

02/07/2567 15

          เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 เวลา 10.45 น. ที่องค์การบริหารส่วนตำบลคลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าร่วมเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการการเพิ่มศักยภาพการจัดการช้างป่าในท้องถิ่น พื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก โดยเป็นวิทยากรและผู้ดำเนินรายการในหัวข้อเสวนา การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4M: คน,เงิน,เครื่องมือ,การบริหารจัดการ ซึ่งมีวิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายเผด็จ  ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายพิเชฐ  นุ่นโต สมาคมนิเวศยั่งยืน จัดโดย สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) สมาคมนิเวศยั่งยืน (Ecoexist Society) อบต.คลองตะเกรา จ. ฉะเชิงเทรา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อบูรณาการการจัดการความเสียหายจากช้างป่าและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมแล้ว ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว กสม. ได้รวบรวมงานศึกษาจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงการจัดเวทีในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นและข้อเสนอแนะ โดยพบว่า ปัญหาช้างป่าเกิดขึ้นทุกพื้นที่ แต่ละพื้นที่มีปัจจัยหลักของปัญหาที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มป่าตะวันออก ปัจจัยหลักคือความหนาแน่นของประชากรช้างเกินศักยภาพของพื้นที่รองรับของป่าอนุรักษ์ถึงสองเท่าตัว หรือกลุ่มป่าตะวันตก เป็นพื้นที่อนุรักษ์ขนาดใหญ่สุดของประเทศที่มีเนื้อที่ประมาณ 18,282 ตารางกิโลเมตร และมีช้างป่าถึง 970 - 1,044 ตัว ปัจจัยหลักคือการจัดทำโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ การวางแผนใช้ประโยชน์ที่ดินทำให้พื้นที่ป่าถูกตัดขาด มีผลกระทบต่อเส้นทางการเคลื่อนที่ของช้างป่าและสัตว์ป่า 

          ล่าสุดคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ได้มีประกาศ เรื่อง กำหนดกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นให้เป็นหน้าที่และอำนาจของนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้านการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนของประชาชน ลงวันที่ 12 มีนาคม 2567 ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีประกาศลงวันที่ 23 เมษายน 2567 แต่งตั้งข้าราชการและพนักงานของ อปท. เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแล้ว อันเป็นพัฒนาการที่ดีในการเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า อีกทั้ง กสม. ยังมีข้อเสนอแนะต่อแนวทางการจัดการในอนาคตให้มีการจัดตั้งกลไกระดับพื้นที่โดยบูรณาการร่วมกันจากภาครัฐ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบและภาคประชาสังคม ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นเลขาวางแผนจัดการช้างป่า ในการจัดทำฐานข้อมูลทิศทางการเคลื่อนที่ของช้างป่า Real Time การศึกษาวิจัยตลาดพืชทางเลือก การพัฒนาเครื่องมือเทคโนโลยีและการจัดตั้งศูนย์รับคำร้องประเมินความเสียหายเพื่อรับการเยียวยาที่เป็นธรรม โดยการติดตามประเมินผลทุก 180 วัน

          ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวสรุปการดำเนินการ ดังนี้

          1. ให้นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่งตั้งชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า หรือชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ตามประกาศ ก.ก.ถ เรื่อง การกำหนดกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ของประชาชนในท้องที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: ด้านการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 เพื่อมีหน้าที่และอำนาจ รวมทั้งสิทธิ สวัสดิการตามกฎหมายของกรมอุทยานแห่งชาติฯ

          2. ให้ อปท. ร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย วางแผนจัดทำโครงการของบประมาณการจัดการช้างป่าโดยเฉพาะ

          3. กสม. จะร่วมกับ ก.ก.ถ. เชิญผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการทำความเข้าใจและอบรมให้กับ อปท. ได้บังคับใช้ประกาศ ก.ก.ถ. รวมทั้งวางแผนงานและงบประมาณ

          จากนั้นในช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่อาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า อบต.คลองตะเกรา ได้พากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะวิทยากร ลงพื้นที่ดูคูกันช้างป่าที่เป็นแนวคันดินไม่ถาวร และต้องการการซ่อมแซม แต่ยังขาดงบประมาณสนับสนุน ซึ่งปัญหาดังกล่าว กสม. รับจะไปสะท้อนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน