สำนักงาน กสม. จัดการประชุมรับฟังความเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน “กรณีการตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม”

26/09/2567 311

          เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 เวลา 13.30 – 16.30 น.  ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมรับฟังความเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน “กรณีการตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม” โดยมีนางสาวรตญา  กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการ กสม. นายภาณุวัฒน์  ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. นายไพโรจน์  พลเพชร และนายบุญเกื้อ  สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสม. เข้าร่วมประชุมรับฟังความเห็นในประเด็นดังกล่าว ณ ห้อง 709 ชั้น 7 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) และผ่านระบบการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Application Zoom)

          ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในพื้นที่ส่วนกลาง จาก 14 หน่วยงาน จำนวน 24 คน ได้แก่ 1). สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2) กองกำลังตำรวจ 3) กองพิสูจน์หลักฐานกลาง 4) ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 5) สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 6) กองบัญชาการกองทัพบก 7) กองนิติธรรมทหาร กรมพระธรรมนูญ 8 ) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ 9) กรมสอบสวนคดีพิเศษ 10) กรมราชทัณฑ์ 11) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) 12) สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข 13) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ 14) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

          การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อท้าทายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม ในหลากหลายประเด็น อาทิ กลุ่มเป้าหมาย ขั้นตอนหรือแนวทางในการดำเนินการ ความจำเป็นและนโยบายการตรวจเก็บสารพันธุกรรมหรือการจัดทำระบบฐานข้อมูลสารพันธุกรรม เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันถือเป็นหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ การรวบรวมพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรม และเป็นประโยชน์ในการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่เป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม การตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งสารพันธุกรรมของประชาชนเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่รัฐเป็นผู้ครอบครอง ดังนั้น หน้าที่ของรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจึงต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

          สำหรับการรับฟังความคิดเห็นต่อ “การตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม” นั้น ที่ผ่านมา สำนักงาน กสม. มีการจัดรับฟังความเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะในกรณีดังกล่าว จากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน อันประกอบด้วยภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา ครอบคลุมพื้นที่ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างครบถ้วน และรอบด้าน เพื่อประมวลผลและนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะ ภายใต้โครงการพัฒนาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ตามหน้าที่และอำนาจของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน