กสม.ศยามล ร่วมเสวนาวิชาการ “โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น : สิทธิและเสียงของชาวสะเอียบ กับแผนการจัดการน้ำประเทศไทย”

26/09/2567 286

          วันพุธที่ 25 กันยายน 2567 เวลา 13.00 น. นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นวิทยากรเสวนา ประเด็น “สิทธิชุมชนในกระบวนการกำหนดโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น และสิทธิในสิ่งแวดล้อม” ร่วมกับ นายหาญณรงค์  เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) นายณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และประธานคณะกรรมการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และนายประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี คณะกรรมการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ในการเสวนาวิชาการ ONLINE “โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น : สิทธิและเสียงของชาวสะเอียบ กับแผนการจัดการน้ำประเทศไทย” จัดโดย ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและเป็นธรรม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม และสถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในการเสวนาว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะพิจารณาเพียงประโยชน์เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเพื่อการชลประทานเท่านั้นไม่ได้แล้ว เพราะเหตุว่าการสร้างเขื่อนอาจก่อให้เกิดผลกระทบในหลายมิติ คือ ปัญหาน้ำท่วมขังนานนอกเขตพื้นที่ชลประทานซึ่งรัฐยังขาดการบริหารจัดการน้ำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปัจจุบันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเกิดปรากฏการณ์พายุหนัก ซึ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นมีความจุรับน้ำได้ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำจากพายุได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการอพยพโยกย้ายชุมชนและจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้ผู้ได้รับผลกระทบซึ่งต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เคยดำรงอยู่ ปัญหาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ที่ต้องเวนคืนที่ดิน ปัญหาบ้านเรือนที่รุกล้ำไปในแม่น้ำสาขาซึ่งปิดกั้นทางน้ำไหล ตลอดจนผังเมืองในพื้นที่ของการสร้างเขื่อนนั้นเหมาะสมอย่างไร ที่สำคัญการเข้าถึงน้ำที่เป็นธรรมซึ่งเป็นสิทธิในน้ำของประชาชน การรวมกลุ่มขององค์กรผู้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง รวมถึงศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำนอกเขตพื้นที่ชลประทาน

          ดังนั้น ในการพิจารณาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะพิจารณาต้นทุนของโครงการที่รอบด้าน และเปรียบเทียบความคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้รับ ชั่งน้ำหนักว่าสมควรจะสร้างเขื่อนหรือไม่ อย่างไร กรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมีต้นทุนทรัพยากรที่จะถูกทำลาย ได้แก่ ป่าสักรวมถึงระบบนิเวศป่าสัก สัตว์ป่า และปลาในลุ่มน้ำยมที่ชาวบ้านเคยได้รับประโยชน์ การพังทลายและการชะล้างหน้าดิน คุณภาพน้ำใต้บาดาลที่เปลี่ยนไป เป็นต้น รัฐจะช่วยเหลือ ดูแล และทดแทนได้เพียงใดให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน 12 แห่งของอำเภอสะเอียบรวมกว่า 620 ครัวเรือนที่ต้องถูกอพยพ โดยเฉพาะบ้านดอนชัยและบ้านดอนแก้วที่มีน้ำท่วม การหาพื้นที่ใหม่ที่ไปกระทบกับชุมชนที่อยู่เดิม การส่งเสริมการเกษตร การจัดสาธารณูปโภคพื้นฐานที่รัฐจะต้องมีความพร้อมและบูรณาการจัดการเรื่องนี้อย่างไรในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ชุมชนที่จะได้รับผลกระทบอย่างรอบด้านในทุกมิติทั้งจากภาครัฐและนักวิชาการเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และสิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจและบริหารจัดการน้ำทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ เช่น ประชาชนที่อาศัยบริเวณต้นน้ำ กลางน้ำ ท้ายน้ำ ลุ่มน้ำยมจะร่วมจัดการน้ำอย่างไร กรณีผู้ได้รับน้ำจากเขื่อนจะต้องเสียค่าส่งน้ำซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และจำเป็นต้องนำองค์ความรู้ท้องถิ่นของชาวบ้านและกลุ่มชาติพันธุ์เกี่ยวกับระบบนิเวศของทรัพยากรธรรมชาติมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจต่อการสร้างเขื่อนด้วย เพราะมนุษย์ทำได้เพียงการปลูกต้นไม้ทดแทน แต่ไม่สามารถสร้างระบบนิเวศป่าที่สมบูรณ์ได้อย่างที่ธรรมชาติสร้างสรรค์

เลื่อนขึ้นด้านบน