กสม. ศยามล ให้สัมภาษณ์ ประเด็น "แนวทางประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการออกโฉนดที่ดินของประชาชนพื้นที่ ต.โคกสะบ้า ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง และ ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง"

25/10/2567 52

          เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์รายการสนามข่าวกับบ่าวจิรศักดิ์ ประเด็น "แนวทางประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการออกโฉนดที่ดินของประชาชนพื้นที่ ต.โคกสะบ้า ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง และ ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง" โดยมีนายจิรศักดิ์ ควงจันทร์ และนายภัคพงษ์ วิธานติรวัฒน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจาย เสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง FM 91.25 MHz

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมกับจังหวัดและชาวบ้าน ณ ห้องประชุมพระยารัษฎา ศาลากลางจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เป็นการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายสกุล ดำรงเกียรติกุล ซึ่งมาประชุมแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) เพื่อร่วมรับรู้ปัญหาที่ดินของชาวบ้าน และให้ชาวบ้านผู้ร้องเรียนรวม 42 ราย ให้ข้อมูลที่ดินของตนเอง ซึ่งได้ร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า พวกตนอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินพื้นที่ ต.โคกสะบ้า ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง และต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง มาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2498 มีทั้งรายที่จดแจ้งการครอบครองที่ดินได้เอกสาร ส.ค.1 และรายที่ไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ    ต่อมารายที่มีเอกสาร ส.ค.1 ได้ยื่นขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดตรัง ผลปรากฏว่ามีทั้งที่ออกโฉนดได้แล้ว และที่ออกโฉนดไม่ได้ และยังทราบมาว่ารัฐได้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ทับที่ดิน ส.ค.1 ของผู้ร้องที่ออกโฉนดไม่ได้ นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าวสำนักงานที่ดินจังหวัดตรังได้ให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ชาวบ้าน เพื่อให้เข้าใจปัญหาที่ดินของตนเองและตัดสินใจได้ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

          ทั้งนี้ สำนักงานที่ดินจังหวัดตรังชี้แจงว่าพื้นที่ตำบลโคกสะบ้า ได้มีประกาศมณฑลภูเก็ตกำหนดเป็นที่สาธารณประโยชน์ เมื่อปี พ.ศ. 2473 ต่อมารัฐปรับปรุงกฎหมายเป็น พระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พุทธศักราช 2478 และพัฒนาต่อเป็นประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งท้องที่จะขึ้นทะเบียนที่สาธารณประโยชน์และต่อมาดำเนินการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) โดยพบว่าในพื้นที่ ต.โคกสะบ้าได้มีการออก น.ส.ล. หนองเคียนพอกไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่ ต.กะช่อง ต.นาชุมเห็ด อ.เมืองตรัง และต.โพรงจรเข้ ต.ในควน ต.ปะเหลียน ต.ทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง พุทธศักราช 2488 และรัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2504 กำหนดพื้นที่ป่าสงวนเตรียมการ ต่อมาเป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวรอยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาที่ดิน ทำให้พื้นที่ ต.โคกสะบ้ามีการทับซ้อนกันของ น.ส.ล. กับพื้นที่ป่าไม้ถาวร กรณีผู้ร้องที่มี ส.ค.1 แต่ออกโฉนดไม่ได้ เนื่องจากการครอบครองเกิดขึ้นหลังปี พ.ศ. 2473 ที่กำหนดเป็นที่สาธารณประโยชน์แล้ว

          กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวถึงแนวทางการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนว่า มี 3 แนวทาง ได้แก่

          1. ใช้มาตรการทางการบริหาร ผ่านคณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิที่ดินของรัฐ (คพร.) โดยเพิ่มหลักฐานการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ทั้งพยานบุคคล พยานแวดล้อมทางวัตถุ ที่แสดงว่ามีการครอบครองที่ดินต่อเนื่องมาตลอด โดยการโอนทางมรดกหรือการซื้อขาย ส.ค.1 ภายหลังการประกาศเป็นที่ดินของรัฐ ทั้งนี้ กรณีพื้นที่ ต.โคกสะบ้า ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง และ ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ได้รับการยืนยันโดย อบต.ว่าเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มายาวนาน 200 ปี นอกจากนี้ในพื้นที่ดังกล่าวมีการทำนาข้าวเบายอดม่วงเหมาะสำหรับการบริโภคของผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และผลิตไม่เพียงพอรองรับความต้องการของตลาด สมควรให้สิทธิในที่ดินเพื่อการอนุรักษ์รักษาไว้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

          2. เสนอเพิกถอน น.ส.ล. เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีสภาพการใช้ประโยชน์สาธารณะแล้ว ซึ่งมีขั้นตอนการสอบสวนประวัติความเป็นมาของกรมการปกครอง การประชุมประชาคมรับฟังความเห็น การรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี และ 3. เสนอประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งนี้ ผู้ร้องประสงค์ให้ดำเนินการตามข้อ 1

เลื่อนขึ้นด้านบน