กสม. ศยามล ร่วมการประชุมหารือระดับภูมิภาคว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมในอาเซียน

12/11/2567 35

          เมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2567 ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เข้าร่วมการประชุมหารือระดับภูมิภาคว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมในอาเซียน จัดโดย คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ร่วมกับคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) โครงการ USAID Mekong for the Future และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเดนมาร์ก โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวกับอาเซียน ภาคประชาสังคม และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

          การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อท้าทาย รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินงานด้านสิทธิในสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศในอาเซียนเผชิญร่วมกัน เพื่อผลักดันกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม (ASEAN Environmental Rights Framework) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน

          ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นต่าง ๆ ขึ้นหารือ เช่น ความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิมนุษยชนกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีในยุควิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรการและกลไกที่ชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม การจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ เหมาะสม และการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ความสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน เช่น ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล ที่ดำเนินงานโดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน และศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อการควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน

          ในโอกาสนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้นำเสนอเกี่ยวกับบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นข้ามพรมแดน อาทิ กระบวนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของ กสม. ทั้งกรณีปกติและเร่งด่วน กลไกในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างประเด็นข้ามพรมแดนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน ข้อเสนอแนะของ กสม. ต่อร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ข้อท้าทายในการทำงานของ กสม. เกี่ยวกับประเด็นข้ามพรมแดน ความร่วมมือระหว่าง กสม. กับ AICHR ในการผลักดันร่างกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

          นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นพ้องกันว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินงานด้านสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณะ รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

          การประชุมหารือครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมต่างหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรอบอาเซียนว่าด้วยสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน