กสม. สุชาติ เข้าร่วมการประชุมผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อ “หลักการไม่ผลักดันกลับและการอพยพย้ายถิ่นฐาน: ความท้าทายทางกฎหมายและแนวทางแก้ไขด้านสิทธิมนุษยชน”

25/11/2567 12

          เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ผศ. สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เข้าร่วมการประชุมผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อ “หลักการไม่ผลักดันกลับและการอพยพย้ายถิ่นฐาน: ความท้าทายทางกฎหมายและแนวทางแก้ไขด้านสิทธิมนุษยชน” จัดโดย สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (TMR) และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องหลักการไม่ผลักดันกลับหรือ non-refoulment ในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐานของไทย แลกเปลี่ยนสถานการณ์ ข้อห่วงกังวล และข้อเสนอแนะระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเคารพหลักการไม่ผลักดันกลับ

          การประชุมดังกล่าว ผู้เข้าร่วมประชุมได้อภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นต่อพัฒนาการของการโยกย้ายถิ่นฐาน หลักการไม่ผลักดันกลับตามกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน การปรับใช้หลักการดังกล่าวในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ทั้งในรูปแบบมาตรฐานการจัดการผู้โยกย้ายถิ่นฐานและการจัดทำกรอบกฎหมายของแต่ละประเทศ ตลอดจนการตีความมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

          ในโอกาสนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การดูแลคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในสถานที่คุมขังหรือสถานกักตัวคนต่างด้าวและการขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองสิทธิของบุคคลดังกล่าวให้ได้รับการดูแลตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จึงเห็นถึงพัฒนาการของแนวนโยบายและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในการพยายามปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังพบอุปสรรคของการตีความเรื่องการปรับใช้มาตรา 13 ของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ที่ไม่ชัดเจน รวมถึงปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นข้อจำกัดในการปล่อยตัวบุคคลออกจากสถานที่คุมขัง

          ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดประเด็นขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายเพื่อประกันการดำเนินการตามหลักการไม่ผลักดันกลับในทุกระดับ อาทิ การมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงและควรได้รับการคุ้มครอง การสร้างความตระหนักรู้แก่หน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม การสร้างพื้นที่สำหรับปรึกษาหารือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง การติดตามและเฝ้าระวังการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การเสนอข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่าง ๆ ไปยังคณะกรรมการผู้กำหนดกฎเกณฑ์และนโยบาย เป็นต้น

          *ขอบคุณภาพจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR)

เลื่อนขึ้นด้านบน