แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่อง ความห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุม

26/12/2556 49

 

                   จากสถานการณ์การชุมนุมกรณีคัดค้านกระบวนการรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และการจับสลากหมายเลขพรรคในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป บริเวณศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น)  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) รับทราบและติดตามข่าวเรื่องนี้ และได้เข้าสังเกตการณ์มาโดยตลอด ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวมีเหตุการณ์           ความรุนแรงเกิดขึ้น  ซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในทุกภาคส่วนโดยรวม  อันเป็นการกระทำที่อาจถือว่าได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และกฎหมาย  รวมทั้งพันธกรณีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน กสม. จึงมีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และหวั่นเกรงว่าสถานการณ์อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่ขยายวงกว้างขึ้น
                   เพื่อให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมดำเนินไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และกฎหมาย ในนามของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ในอันที่จะส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและปกป้องหลักการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย สิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคลและส่วนรวมอันจะละเมิดมิได้    จึงขอวิงวอนให้ทุกภาคส่วนคำนึงและควรปฏิบัติดังนี้
                   ๑.  ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุม ชุมนุมด้วยความสงบ และปราศจากอาวุธ ปฏิบัติตนภายใต้หลักการ สิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มุ่งมั่นและแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์  โดยเฉพาะการปะทะที่ส่งผลให้เกิดการละเมิดกฎหมายหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ทั้งต้องไม่กระทำการในลักษณะยั่วยุ หรือกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
                   ๒.   ขอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติและกำชับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และกฎหมาย โดยต้องยุติการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการใช้อุปกรณ์แก๊สน้ำตา หรือกระสุนยางอันไม่เป็นไปตามหลักสากลที่เป็นที่ยอมรับในลักษณะที่จะก่อให้เกิดอันตราย  และในขั้นตอนและวิธีการที่เกินความจำเป็น  ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดการสูญเสียและเกิดอันตรายแก่ชีวิตและร่างกาย  ตลอดจนทรัพย์สินดังกล่าว ในการนี้ให้มุ่งเน้นให้เกิดการเจรจาเป็นสำคัญ  อีกทั้งต้องหาทางแก้ไขปัญหาอย่างละมุนละม่อมต่อไป
                   ๓. ขอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดูแล ช่วยเหลือ ประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เกิดความรุนแรงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก สตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ               ทั้งนี้จะต้องจัดหาที่พักชั่วคราวต่อบุคคลดังกล่าว
                   ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการชุมนุม และการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมจะเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน  อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของประเทศต่อไป  หากผู้ใดพบเห็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากเหตุการณ์  ขอให้แจ้งสายด่วน ๑๓๗๗ หรือทางอีเมล์ help@nhrc.or.th

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เลื่อนขึ้นด้านบน