ข่าวแจก เรื่อง ข้อห่วงใยต่อการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่

10/06/2563 35

ตามที่คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมัครด้วยตนเองตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ ในวันเวลาราชการ  ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ตามที่ปรากฏในสื่อสารมวลชนอย่างแพร่หลายแล้วนั้น
        ศาสตราจารย์อมรา  พงศาพิชญ์  ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กล่าวแสดงความกังวลและห่วงใยต่อกระบวนการการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบกับพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒  จะไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส ซึ่งเป็นหลักการของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีข้อกังวลหลักๆ ๓ ประการ ดังนี้
        ๑) ความชัดเจนของสถานะองค์กรที่จะไม่มีการควบรวมกับองค์กรอื่นหรือไม่ ซึ่งต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่จะบังคับใช้ในอนาคต  
       ๒) ความชัดเจนเรื่องระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของผู้เข้ารับการสรรหา  ทั้งนี้ ตามหลักการปารีสระบุว่า “การแต่งตั้งสมาชิกจึงต้องเกิดจากการดำเนินการอย่างเป็นทางการ  โดยมีการกำหนดระยะเวลาของการปฏิบัติงานตามอาณัติที่ชัดเจน”  แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับร่าง ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ที่กำลังดำเนินการสรรหาอยู่ขณะนี้  ว่าจะมีวาระการทำงาน ๖ ปี ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ หรือไม่
       ๓) คุณสมบัติของบุคคลผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์  ทั้งนี้ หลักการปารีสระบุว่า “กระบวนการสรรหาต้องมีหลักประกันที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า สถาบันจะเป็นผู้แทนที่หลากหลายของพลังทางสังคมหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน”  แต่การสรรหาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ไม่มี)  ประธานศาลปกครองสูงสุด (ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง) บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก (นายเพ็ง เพ็งนิติ)  บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก (นายเฉลิมชัย วสีนนท์) รวม ๕ ท่าน  เป็นกรรมการสรรหาฯ  ซึ่งไม่มีผู้แทนของภาคประชาสังคม
        อย่างไรก็ตาม  ขอเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าควรมีการทบทวนองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาให้มีความหลากหลายทางวิชาชีพ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคประชาสังคม  อีกทั้งการประเมินคุณสมบัติของผู้สมัครที่เหมาะสม  รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา คุณสมบัติของ กสม. ที่มีประสบการณ์การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน  และนำไปสู่การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป  ซึ่งจะเป็นไปตามหลักการปารีส ทั้งนี้ ขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้โปรดให้ความชัดเจนต่อข้อห่วงใยดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าหากมีความชัดเจนจะทำให้มีผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาสมัครเข้ารับการสรรหาเพิ่มมากขึ้น
 

10/06/2558

เลื่อนขึ้นด้านบน