ข่าว
ข่าว
26 ก.ย. 67
content thumbnail
กสม. ปิติกาญจน์ ร่วมงาน AICHR – SEANF Regional Workshop: Sharing Good Practices and Effective Remedy for Migrant Workers in Business and Human in ASEAN . เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกล่าวเปิดงาน “AICHR – SEANF Regional Workshop: Sharing Good Practices and Effective Remedy for Migrant Workers in Business and Human in ASEAN” ซึ่งเป็นกิจกรรมความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) และกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum: SEANF) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่าง AICHR สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในอาเซียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการนำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ไปปฏิบัติ โดยเฉพาะการเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติในอาเซียน . ในโอกาสนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม โดยเน้นถึงความร่วมมือที่ดีระหว่าง AICHR และ SEANF ทั้ง 6 สถาบัน ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา ไทย และผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์-เลสเต ซึ่งประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การทำงานของ SEANF บริบทของประเทศไทยที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก หน้าที่ของรัฐตามหลักการ UNGPs ที่ต้องดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในเขตอำนาจของรัฐสามารถเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ . นอกจากนี้ นางรัตติกุล จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำ กสม. ได้ร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ “Non-state-based, non-judicial grievance mechanisms” โดยกล่าวถึงการดำเนินการของ กสม. ในฐานะกลไกรับการร้องทุกข์ที่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมทางศาล (non-judicial grievance mechanisms) เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมา กสม. ได้เสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงการจดทะเบียนได้สะดวกและไม่เสียค่าใช้จ่ายสูง เข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม สิทธิในการศึกษาของบุตรแรงงานข้ามชาติ และการผลักดันให้รัฐบาลไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือของ กสม. กับภาคธุรกิจ และสถาบันการศึกษาในการส่งเสริมให้นำหลัก UNGPs ไปใช้ในการประกอบธุรกิจโดยเคารพต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่คุ้มครองสิทธิแรงงานทุกคน

อ่านเพิ่มเติม 305
ไปยังหน้า ก่อนหน้า
/ 432 ถัดไป
เลื่อนขึ้นด้านบน